บีโอไอยกเลิกเงื่อนไขส่งออกแก่โครงการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบ WTO

ข่าวทั่วไป Wednesday September 1, 2004 09:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไอเห็นชอบให้ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนตามข้อตกลงขององค์กรการค้าโลก หรือ WTO หลังจากต่ออายุครบ 3 ปีในสิ้นปี 2547 เลขาฯ บีโอไอยันไม่กระทบบรรยากาศการลงทุนไทย เพราะบีโอไอเตรียมรับมือล่วงหน้า โดยยกเลิกการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงื่อนไขส่งออกมาตั้งแต่ สิงหาคม 2543 เหลือแต่กิจการประกอบ รถยนต์ 4 โครงการเดิมที่ต้องศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบก่อนพิจารณายกเลิกเงื่อนไข
นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกแก่โครงการลงทุน ซึ่งเป็นพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ (Agreement on Subsidy and Countervailing Measures) ขององค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization)
ในอดีต การส่งเสริมการลงทุนได้มุ่งเน้นการผลิตเพื่อการส่งออก จึงได้มีการกำหนดเงื่อนไขการส่งออก เพื่อให้โครงการลงทุนผลิตเพื่อส่งออกเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การมีเงื่อนไขการส่งออกอาจก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในเวทีการค้าโลก ดังนั้น องค์การการค้าโลก หรือ WTO จึงได้มีการกำหนดให้รยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และจะต้องยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกภายในสิ้นปี 2545 แต่ประเทศไทยได้เจรจาขอต่ออายุการอุดหนุนการส่งออกอีก 1 ปี ซึ่งเมื่อรวมกับเวลาที่ WTO ขยายให้เพื่อปรับตัวอีก 2 ปี ทำให้การบังคับใช้เงื่อนไขการส่งออกของประเทศไทยสามารถทำได้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2547 นี้
นายสมพงษ์กล่าวว่า การยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกของบีโอไอจะไม่กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนแต่อย่างใด เพราะบีโอไอได้ยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกในการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ประกาศนโยบายเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ซึ่งส่งผลให้บีโอไอสามารถให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการลงทุนต่างๆ โดยไม่ขัดกับกรอบใดๆ ของ WTO
สำหรับโครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่มีเงื่อนไขส่งออกก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นโครงการที่ยังเหลือระยะเวลาในการใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 581 โครงการ แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ไม่ส่งผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อยมากต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศจำนวน 403 โครงการ และกลุ่มที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศ จำนวน 178 โครงการ
สำหรับกลุ่มที่ไม่ส่งผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อยมากต่อผู้ผลิตรายอื่นในประเทศ 403 โครงการนั้น บีโอไอจะดำเนินการยกเลิกเงื่อนไขส่งออกเป็นรายโครงการต่อไป
ส่วนกลุ่มที่ยังไม่สามารถยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกได้ทันที เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อตลาดในประเทศอีกจำนวน 178 โครงการ ที่ประชุมได้พิจารณาผลการศึกษาและผลการหารือกับภาคเอกชนแล้วเห็นว่า แม้จะยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกก็ไม่น่าจะมีผลกระทบแต่อย่างใด จึงให้สำนักงานทยอยยกเลิกเงื่อนไขการส่งออกต่อไป
ยกเว้นกิจการประกอบรถยนต์ 4 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะส่วนที่ส่งออกตามเงื่อนไขเดิม ต่างจากกิจการประกอบรถยนต์ในปัจจุบัน ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้แต่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรเพียงอย่างเดียวนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบก่อน โดยให้หารือกับกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์เพื่อหาแนวทางในการพิจารณาให้แล้วเสร็จในปี 2547 ต่อไป--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

แท็ก บีโอไอ   WTO  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ