รัฐรณรงค์ส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวทำหน้าที่ในการดูแลเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนความเป็นมนุษย์ให้กับบุตรหลาน

ข่าวทั่วไป Monday October 1, 2012 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหามากมายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ว่าเกิดจากสาเหตุสำคัญ ดังนี้ 1. สถาบันครอบครัว ละเลยการทำบทบาทหน้าที่ในการดูแลเลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ให้กับบุตรหลาน 2. สถาบันการศึกษา ละเลยการทำบทบาทหน้าที่ในอบรมสั่งสอนปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม และทักษะในการดำเนินชีวิตให้กับเด็กและเยาวชน 3. สถาบันทางศาสนา มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับพิธีการและวัตถุนิยม มากกว่าเน้นหลักคำสอนทางศาสนา หรือการฝึกปฏิบัติตามหลักคำสอนทางศาสนา 4. การเปลี่ยนแปลงไปของกระแสโลก ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มากกว่าการพัฒนาสังคม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีมาอย่างยาวนาน 5. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร รวมถึงสื่อแขนงต่างๆ ที่เผยแพร่ข้อมูล/เนื้อหา/ภาพที่สื่อถึงความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เช่น ข่าว ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ โฆษณา สื่อสิ่งพิมพ์ เกมส์ ฯลฯ ส่งผลให้ข้อมูลข่าวสารทั้งด้านดีและด้านลบเผยแพร่อย่างรวดเร็วและไม่มีองค์กรใดสามารถควบคุมดูแลได้อย่างทั่วถึง จากสาเหตุดังกล่าวอาจก่อปัญหาหรือสร้างความรุนแรงขึ้นในสังคมได้ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ จะสามารถคลี่คลายลงได้หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องข้างต้นร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะหากสถาบันครอบครัวได้มีการทำบทบาทหน้าที่ในการดูแลเลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ให้กับบุตรหลาน เพื่อให้เติบโตเป็นคนดี มีคุณภาพ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข และร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาสังคมต่อไปแล้ว ปัญหามากมายในสังคมก็จะคลี่คลายลง โดยในด้านของสถาบันครอบครัว คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ให้กับบุตรหลาน จึงความปฏิบัติตนดังนี้ 1. ศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจ เกี่ยวกับวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม (ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา/ความรู้ และทักษะการใช้ชีวิต) 2. ให้การดูแลเลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนบุตรหลาน 2.1 ด้านร่างกาย - ดูแลให้ได้รับความปลอดภัย - เลี้ยงดูให้เหมาะสมตามพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย 2.1 ด้านจิตใจ - ให้ความรักความอบอุ่น (เช่น พูดคุย ถามไถ่ สัมผัส โอบกอด บอกรัก ฯลฯ) - ปลูกฝังหลักคิดคุณธรรมให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะหลักคำสอนทางศาสนา - ครอบครัวควรมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีคุณค่า อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 2.3 ด้านสติปัญญา/ความรู้ - ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก (เช่น เล่านิทาน การเล่น การพูดคุยซักถาม ฯลฯ) - สนับสนุนให้ได้รับการศึกษาตามความรู้ความสามารถ และศักยภาพของเด็ก 2.4 ด้านทักษะชีวิต - ฝึกวินัยเชิงบวก และจริยธรรม (เช่น กิจวัตรประจำวัน กิริยามารยาท ความสุภาพ การตรงต่อเวลา ความซื่อสัตย์ อดทนอดกลั้น จริงใจ มีน้ำใจ ไม่เอาเปรียบ ไม่ทำร้ายผู้อื่น ฯลฯ) - สอนให้รู้จักบทบาทหน้าที่ของตน (เช่น การเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ช่วยแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ ฯลฯ) - สอนทักษะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น (เช่น การสื่อสารเชิงบวก การวางตัวและบุคลิกภาพ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การช่วยเหลือเกื้อกูล ฯลฯ) - สอนทักษะการใช้ชีวิตที่จำเป็น (เช่น กินอยู่อย่างพอเพียง ศิลปะการป้องกันตัว การคบเพื่อนต่างเพศ ทักษะการปฏิเสธ ฯลฯ) - สอนให้คิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ - สอนให้เข้าใจและรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ และรู้วิธีผ่อนคลายอารมณ์หรือจัดการความเครียดด้วยตนเอง - สร้างความนับถือและเห็นคุณค่าในตนเอง พร้อมสอนให้มีเป้าหมายในชีวิต - สอนให้รู้และเคารพสิทธิในชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และยอมรับความแตกต่างของตนเองและผู้อื่น - สอนให้มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม 3. ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี 4. ประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างพอเพียง 5. เป็นที่พึ่งของบุตรหลานและคนในครอบครัว สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว คาดหวังว่าสถาบันครอบครัวจะกลับมาทำบทบาทหน้าที่ดูแลเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนบุตรหลานได้อย่างเหมาะสม และหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วยแล้ว สังคมไทยก็จะน่าอยู่ และมีความสงบร่มเย็นยิ่งขึ้น สำนักส่งเสริมสถาบันครอบครัว สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โทร./แฟกซ์ 0 2306 8701

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ