กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กรมควบคุมโรค
สาธารณสุขเผย!! น้ำท่วมปีนี้ พบเสียชีวิตเพราะจมน้ำแล้ว 8 ราย จากไฟฟ้าดูด 1 รายขณะที่ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคระบาด แต่ต้องเฝ้าระวัง 12 โรคที่มากับน้ำอย่างใกล้ชิด
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวขณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดปราจีนบุรีว่า ผลกระทบในภาพรวมจากสถานการณ์น้ำท่วม ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย สาเหตุจากไฟฟ้าดูด 1 ราย จมน้ำ 6 ราย และไม่ระบุสาเหตุ 1 ราย มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 44 ราย ส่วนใหญ่ถูกของมีคมบาด ตะปูตำ หกล้ม เท้าบวม และมีบางส่วนที่ไม่ระบุสาเหตุ ส่วนปัญหาเรื่องโรคและการเจ็บป่วยของผู้ประสบภัย ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน ถึง วันที่ 28 กันยายน 2555 รวม 20 วัน พบผู้ป่วยจากน้ำท่วมทั้งหมด 31,998 ราย ส่วนใหญ่มาด้วยอาการปวดศีรษะ เป็นไข้หวัด และน้ำกัดเท้า ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 251 ราย และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 419 ราย ส่วนปัญหาสุขภาพจิต พบว่าประชาชนมีความเครียดรวม 6,393 ราย ในจำนวนนี้มีความเครียดในระดับสูงถึง 138 ราย และต้องติดตามดูแลใกล้ชิด 38 ราย
สำหรับเหตุการณ์น้ำท่วมในจังหวัดปราจีนบุรีครั้งนี้มีพื้นที่น้ำท่วมขังอยู่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ อ.เมืองปราจีนบุรี และ อ.บ้านสร้าง ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 8,441 ครัวเรือน 19,835 คน มีผู้ป่วย 3,985 ราย เสียชีวิต 5 ราย จากสาเหตุจมน้ำซึ่งเป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยที่มารับบริการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในหมู่บ้าน และที่โรงพยาบาล โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามความพร้อมของระบบการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อการป้องกันควบคุมโรคระบาดจากสถานการณ์น้ำท่วมได้อย่างใกล้ชิด และทันท่วงที โดยเน้นเรื่องที่ต้องดูแลเป็นพิเศษคือการป้องกันโรคติดต่อที่มากับน้ำท่วม 12 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ หัด อุจจาระร่วงเฉียบพลัน อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบ ตาแดง ไข้เลือดออก ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ไข้สมองอักเสบ บาดแผลติดเชื้อ ไทฟอยด์ ส่วนอหิวาตกโรคพบประปราย ไม่มีรายงานการระบาด นับเป็นเรื่องที่ดีที่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ยังไม่มีรายงานการเกิดโรค ระบาดแม้แต่รายเดียว
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าเป็นที่น่าสังเกตว่าน้ำท่วมปีนี้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการจมน้ำ จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องการจมน้ำเสียชีวิตและอุบัติเหตุจากไฟฟ้าดูด เพราะน้ำท่วมเมื่อปี 2554ที่ผ่านมา พบว่าการจมน้ำและถูกไฟฟ้าดูดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุด ก่อนลงน้ำควรสวมเสื้อชูชีพ ใส่รองเท้าบู๊ต หรือสวมถุงพลาสติกก่อนลุยน้ำ ล้างมือ ไม่กินอาหารค้างมื้อ ดื่มน้ำสะอาด เก็บเศษอาหารและขยะใส่ถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น ระวังอย่าให้ยุงกัด ถ้ามีโรคเรื้อรังอย่าลืมรับประทานยาประจำตัว หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด ถ้ามีอาการป่วยรีบแจ้งหน่วยแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านอย่าปล่อยไว้เกิน 2 วัน สวมหน้ากากอนามัย และปิดปาก จมูก เวลาเป็นหวัด เมื่อมีอาการท้องเสียให้ดื่มผงเกลือแร่โอ อาร์ เอส หลังน้ำลดอย่าลืมนำเด็กไปฉีดวัคซีนตามนัดฯลฯ
เป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคระบาด ขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการทำงานที่เข้มแข็งของทีม SRRT หรือ “ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว” ในการจัดการภาวะฉุกเฉิน ทางสาธารณสุขที่มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิดในทุกระดับ และทันทีที่ทีม SRRT ได้รับแจ้งจากพื้นที่ว่ามีเหตุการณ์ผิดปกติทางสาธารณสุขเกิดขึ้น เช่นมีผู้ป่วยกลุ่มโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ มากกว่า 1 รายในวันเดียวกัน มีผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มก้อน เช่น ผู้ป่วยโรคไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เลปโตสไปโรซิส ตาแดงจากการติดเชื้อ ปอดอักเสบเฉียบพลัน มีผู้ป่วยที่มีไข้และผื่นตามตัว หรือโรคอื่นๆที่ติดต่อ กันได้ง่ายแม้พบเพียง 1 ราย ต้องรายงานทันที 4.มีผู้ที่ป่วยและเสียชีวิต ฯลฯ ทีม SRRT จะลงไปยังพื้นที่เกิดเหตุ ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล ทำการสอบสวนและควบคุมป้องกันโรค จากนั้นจะรายงานให้หน่วยงานสาธารณสุขระดับสูงขึ้นไปทราบ เพื่อดำเนินการระดมทรัพยากรต่างๆ มารักษาชีวิตและทรัพย์สิน บรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัย และ ระงับหรือลดความรุนแรงของภัยที่เกิดขึ้น สำหรับประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333
นายแพทย์ระวี สิริประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังของทางจังหวัดว่า ขณะนี้สาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีมีการเตรียมความพร้อมดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นอย่างดีโดยใช้ระบบส่งยาแบบดิลิเวอรี่ที่มีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขช่วยในการกระจายยาสู่ผู้ป่วย โดยอาศัยข้อมูลตามประวัติที่เข้ารับการรักษาว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ในพื้นที่ใด มีน้ำท่วมหรือไม่ ซึ่งในระบบส่งยาจะทราบว่ายาของผู้ป่วยหมดเมื่อใดก็จะมีการส่งต่อยาให้ทันที และในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังนานเป็นประจำก็จะมีการจ่ายยาเพิ่มให้กับผู้ป่วยในระยะเวลานานขึ้น ส่วนการป้องกันโรคทางจังหวัดได้เปิดศูนย์พักพิงย่อยในพื้นที่ประสบภัยให้กับประชาชน โดยศูนย์พักพิงย่อยแต่ละแห่งสามารถรองรับได้ราว 30-40 คน เพื่อช่วยให้การควบคุมป้องกันโรคง่ายขึ้นเพราะในศูนย์พักพิงมีความพร้อมทั้งในเรื่องอาหาร น้ำกิน น้ำใช้ที่สะอาด การดูแลป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆจึงสามารถทำได้สะดวก
ด้านนายแพทย์สมัย กังสวร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จังหวัดชลบุรีกล่าวว่าปราจีนบุรีเป็น 1 ใน 9 จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบของ สคร.3 ชลบุรี ที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่นานหลายวัน จึงขอให้ผู้ประสบภัยระวังโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารและโรคที่มากับน้ำที่ไม่สะอาด โรคเชื้อรา โรคตาแดง และโรคน้ำกัดเท้า นอกจากนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้แก่เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เนื่องจากทั้ง 2 กลุ่มนี้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ซึ่งมีโอกาสป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัด และโรคปอดบวม ขอให้รักษาความอบอุ่นร่างกาย รักษาสุขภาพตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ สวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น ไม่ตากแดด ตากฝนโดยไม่จำเป็น และหากเปียกฝนหรือเดินลุยน้ำ ขอให้รีบอาบน้ำ เปลี่ยนใส่เสื้อผ้าที่แห้ง และหากมีไข้สูงเกิน 2 วัน ไอ เจ็บหน้าอก หายใจหอบ น้ำมูกเปลี่ยนสีจากเหลืองใสเป็นเขียวข้น ให้รีบพบแพทย์ทันที ผอ.สคร.3 กล่าว
กลุ่มเผยแพร่ สำนักงานเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์:0-2590-3862 / โทรสาร: 0-2590-3386