กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ก.ไอซีที
นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเตรียมความพร้อมการปฏิบัติราชการ ในปี พ.ศ.2556 ระหว่าง สำนักป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (ปอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ว่า การหารือร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงนโยบาย รวมทั้งความพร้อมในการปฏิบัติราชการของปี พ.ศ.2556 และความพร้อมของภารกิจที่ต้องก้าวเดินต่อไปในอนาคตร่วมกันระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันเป็นการเตรียมตัวเพื่อก้าวเดินสู่อนาคตในโลกดิจิตอล รวมถึงโลกของการสื่อสาร โดยทั้ง 2 หน่วยงานมีบทบาทในการร่วมดูแล ป้องกัน ปราบปรามภัยร้าย และอาชญากรรมต่างๆ ที่ปรากฏในโลกไซเบอร์หรือระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชน เด็ก เยาวชน และประเทศ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง
“กระทรวงฯ ได้ร่วมกับ ปอท. สตช. จัดการประชุมฯ ครั้งนี้ขึ้น เพื่อขอรับทราบข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหน่วยงานทั้งสองได้ร่วมดำเนินงานมาอย่างพากเพียร ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง และร่วมเสียสละทำงานเพื่อบ้านเมือง รวมถึงปกป้องสถาบันอันเป็น ที่เคารพรัก ตลอดจนดูแลประชาชน เด็กเยาวชน และสังคม โดยรวมตลอดมา ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ในการหารือจะมุ่งประเด็นภารกิจ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการงบประมาณ ตัวชี้วัด การประเมินผลการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติงานของ ปท. และ ปอท. ที่ต้องการให้มีเอกภาพร่วมกันในการสร้างระเบียบปฏิบัติ รวมทั้งแนวทางการทำงานให้สามารถตอบสนอง และดูแลประชาชนได้ พร้อมกันนี้ ยังมีการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา อุปสรรค และการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงานให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย” นายไชยยันต์ กล่าว
สำหรับการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง ปท. และ ปอท. นั้น เริ่มตั้งแต่การแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะการปฏิบัติงานในการสืบสวน สอบสวน การจัดทำหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อรูปคดี การวางแผนปฏิบัติการจับกุม การปฏิบัติการจับกุม การฝึกอบรมหลักสูตรทางเทคนิค การฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การร่วมพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ การแบ่งบันร่วมใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทาง ICT ต่อการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงาน การแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะต่อประเด็นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและรูปแบบอาชญากรรมทาง ICT เป็นต้น
ส่วนขั้นตอนการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานในภาพรวมนั้นคล้ายคลึงกัน แต่มีความโดดเด่นที่ช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยปอท. มีความโดดเด่นในด้านจำนวนบุคลากรที่สามารถรองรับการทำงานจำนวนมาก และกระจายในพื้นที่ทั่วประเทศต่อการสนับสนุนการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีภารกิจในการดำเนินงานด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่กว้างขวางมากกว่า พ.ร.บ.ฯ นอกจากนี้ ปอท. ยังสามารถสร้างความร่วมมือ หรือร้องขอความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจสากลได้ จึงสามารถดำเนินการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นทางการทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติได้ พร้อมทั้งสามารถสนับสนุนการทำงานด้านคดีอาชญากรรมอื่นให้กับตำรวจหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
ขณะที่ ปท. มีความโดดเด่นในด้านการมีอุปกรณ์และเครื่องมือทาง ICT ต่างๆ ที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน เนื่องจากเป็นหน่วยงานเจ้าของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และเป็นหน่วยงานเชิงนโยบายในภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตามอำนาจหน้าที่ นอกจากนี้ กระทรวงไอซีที ยังเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจสำคัญ คือ กสทฯ และ ทีโอที ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตและอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายนั้น ต้องร่วมมือกันดำเนินการทั้งในลักษณะการเชื่อมโยงหลักฐานร่องรอยทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Evidence) เชื่อมโยงหลักฐานร่องรอยของกระบวนการทำงานของแต่ละธุรกิจ (Business Logic) รวมทั้งเชื่อมโยงถึงงานอาชญวิทยา/พฤติกรรมศาสตร์ (Human Behavior) และสิ่งสำคัญ คือ การปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆ ร่วมกัน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงได้รับนโยบายความร่วมมือจากผู้บริหารระหว่าง สตช. และ กระทรวงไอซีที ตลอดจนนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในแนวทางความร่วมมือร่วมกัน
“การร่วมมือกันดำเนินงานดูแล ป้องกัน ปราบปรามภัยร้าย และอาชญากรรมต่างๆ ทาง ICT ระหว่าง ปท. และ ปอท. นั้น จะช่วยให้ประชาชนมั่นใจ อุ่นใจ ปลอดภัยจากภัยร้ายทาง ICT ทั้งการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการท่องโลกไซเบอร์มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยสร้างค่านิยมอันดีงามต่อประชาชนในโลกไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการรับบริการแก้ไขปัญหาจากภัยร้ายที่ชัดเจน โปร่งใส มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับข้อมูลข่าวสารที่ส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจจากผลกระทบทาง ICT ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันจะช่วยสร้างความก้าวหน้าด้าน ICT ในภาพรวมของประเทศให้มากขึ้น” นายไชยยันต์ กล่าว