กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--บสท.
นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานกรรมการ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เปิดเผยถึง
แนวทางในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาว่า ภายหลังจากที่ บสท. ได้รับโอนหนี้ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2547 จาก จำนวนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนมาทั้งสิ้น 15,904 ราย มูลค่าทางบัญชี 778,678 ล้านบาท บสท. ได้บริหารจัดการจนมีข้อยุติแล้ว 9,155 ราย มูลค่าทางบัญชี 753,331 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 96.74 ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนทั้งหมด
ปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูในศาลล้มละลายกลางสำเร็จกว่า ร้อยละ 66
การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูในศาลล้มละลายกลางสำเร็จจำนวน 4,189 ราย มูลค่าทางบัญชีประมาณ 500,661 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.46 ของมูลค่าทางบัญชีของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เปรียบเทียบกับ ร้อยละ 59.13 ณ สิ้นปี 2546 และร้อยละ 49.94 ณ สิ้นปี 2545 ส่วนหนึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ บสท. ได้ดำเนินการตามมาตรา 58 และ 74 แห่ง พ.ร.ก. บสท. 2544 ในครั้งแรก แต่ บสท.ได้เปิดโอกาสให้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ จนมีข้อยุติจำนวน
257 ราย มูลค่าทางบัญชี 62,710 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง บสท. ที่จะช่วยเหลือลูกค้าให้กลับไปดำเนินธุรกิจต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม หากลูกค้าหรือผู้ค้ำประกันที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ความร่วมมือเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับ บสท และ/หรือลูกค้าไม่มีการชำระหนี้ตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้ บสท. มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการขั้นสุดท้ายอย่างเด็ดขาด โดยการขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 59 ราย มูลค่าทางบัญชี 2,556 ล้านบาท
จากผลการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ จะเห็นได้ว่า การปรับโครงสร้างหนี้ และฟื้นฟูกิจการของ บสท. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอัตราที่คาดว่าจะได้รับชำระคืน (Expected Recovery Rate) อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 48.54 ของมูลค่าทางบัญชี ทั้งนี้ ยังไม่นำปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามสัญญาของลูกค้าในภายหน้า การด้อยค่าของราคาทรัพย์สินที่ได้รับการตีโอนชำระหนี้มาคิดคำนวณด้วย
หลังจากที่ลูกค้าได้รับการอนุมัติปรับโครงสร้างหนี้แล้ว บสท. ได้ลงนามในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้เป็นจำนวน 1,867 ราย มูลค่าทางบัญชี 262,370 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.82 ของจำนวนรายลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้ และ บสท. ได้รับเงินสดจากการรับชำระหนี้รวม 43,239 ล้านบาท เปรียบเทียบกับสิ้นปี 2546 ที่มีจำนวน 27,549 ล้านบาท และสิ้นปี 2545 ที่มีจำนวน 5,633 ล้านบาท ส่งผลให้ บสท. มีสภาพคล่องเพียงพอที่จะไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน (เงินต้น) ก่อนกำหนดคืนสถาบันการเงินผู้โอนจำนวน 125 ราย
มูลค่าประมาณ 7,275 ล้านบาท
ความสำเร็จจากการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว บสท. ได้ช่วยฟื้นฟูกิจการของบริษัทจดทะเบียนที่สุจริตและมีศักยภาพ ที่รับโอนมาทั้งหมด 27 บริษัท มูลค่าทางบัญชีประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่ง บสท. ได้อนุมัติปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูกิจการไปแล้วทั้งหมด ทั้งนี้ ลูกค้าจำนวน 13 บริษัท สามารถกลับเข้าไปทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตามปกติแล้ว ลูกค้าจำนวนหนึ่งสามารถเพิ่มทุนได้ประมาณ 20,000
ล้านบาท และ ลูกค้าบางส่วนได้รับการอนุมัติสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน เป็นเงินประมาณ12,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและขยายกิจการต่อไปได้
นอกจากนี้ ลูกค้า บสท. ที่ปรับโครงสร้างหนี้หรือฟื้นฟูกิจการสำเร็จ ได้ชำระหนี้เสร็จสิ้น และปิดบัญชี หรือได้รับการ Refinance จากสถาบันการเงินแล้วมีจำนวนทั้งสิ้น 550 ราย นับว่าเป็นการส่งคืนลูกค้ากลับเข้าสู่ระบบสถาบันการเงินอีกครั้ง ซึ่งความสำเร็จ เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้/โครงสร้างกิจการ หรือ การฟื้นฟูกิจการของ บสท. เป็นการปรับหนี้อย่างมีคุณภาพ ช่วยทำให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นและมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจต่อไป
ส่วนการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2547 บสท. ได้ทำการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินเป็นของ บสท. แล้วทั้งสิ้นประมาณ 45,000 ล้านบาท แบ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท ตราสารทุนและตราสารทางการเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา บสท. ได้ดำเนินการขายทรัพย์สินรอการขายไปแล้วประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งสามารถขายได้ราคาสูงกว่าราคาขั้นต่ำที่กำหนดไว้ ประมาณร้อยละ 17 สะท้อนให้เห็นว่าทรัพย์สินของ บสท. มีคุณภาพ และเป็นที่น่าลงทุน
ประกอบกับกระบวนการขายที่มีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส เป็นแรงผลักให้เกิดการแข่งขันด้านราคา ส่งผลให้ บสท. มีทรัพย์สินที่ได้รับโอนแทนการชำระหนี้เข้ามาเป็นทรัพย์สินรอการขายเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพย์สินรอการขาย บสท. จึงได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง โปร่งใส ผ่าน www.tamc.or.th อย่างน้อย 30 วัน เป็นช่วงปลอดการจำหน่าย และใช้วิธียื่นซองประมูล โดย บสท. มีการจัดส่งรายละเอียดทรัพย์สินโดยตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย และผ่านสื่อต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ บสท. ยังได้ช่วยเหลือลูกค้า โดยบริการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อนำมาชำระหนี้ตาม แผนปรับโครงสร้างหนี้ มูลค่ารวม 2,460 ล้านบาท
สำหรับ แผนงานปี 2547 เร่งบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่เหลือให้จบสิ้นปี โดย บสท. ได้เปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ถูกดำเนินการบังคับหลักประกันไปแล้วในครั้งแรกเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้อีก หรือลูกค้าที่ต้องการเปลี่ยนเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ บสท. ให้ลูกค้าเข้าเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ได้ โดยลูกค้ากลุ่มนี้ บสท. จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง บสท. ที่จะช่วยเหลือลูกค้าให้กลับไปดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม อีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ทางบสท. ได้มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจปรับหนี้ลูกค้า 8 แห่งทั่วประเทศ ขึ้นมาดูแลการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้ารายย่อยที่มีอยู่ประมาณ 11,000 ราย มูลค่าทางบัญชีประมาณ 23,000 ล้านบาท กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่ง บสท.จะเข้าไปบริหารจัดการเอง โดยจัดตั้ง "ศูนย์เฉพาะกิจปรับหนี้ลูกค้า " ให้บริการลูกค้ารายย่อยตามจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี ระยอง เปิดทำการวันศุกร์ วัน
เสาร์ วันอาทิตย์ และวันจันทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน - วันที่ 4 ตุลาคม 2547 และที่ จังหวัดพิจิตร นครราชสีมา อุบลราชธานี สงขลา และวันที่ 14 -25 ตุลาคม 2547 ณ สำนักงานบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด เพื่อทำหน้าที่เจรจาปรับโครงสร้างหนี้แบบครบวงจร โดย บสท. ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้คอยอำนวยความสะดวก ให้คำแนะนำปรึกษาทางด้านการเงิน และแผนการปรับโครงสร้างหนี้ให้ สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละราย โดย บสท. ไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการช่วยลูกค้าประหยัดต้นทุนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินและการเดินทางมาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในกรุงเทพฯ--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--