กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--
ปีพุทธศักราช 2555 รัฐบาลไทย ได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี อย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี โดยเน้นหนักในด้านการปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับชาติ ให้ประชาชนได้ปฏิบัติตนตามวิถีชาวพุทธอย่างแท้จริง อันจะทำให้เกิดความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างยั่งยืน
"พุทธชยันตี" หมายถึง ชัยชนะของพระพุทธเจ้า ที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เพราะพระองค์ ทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา เมื่อ 2600 ปี ล่วงแล้ว ทำให้พระนามว่า "สัมมาสัมพุทธะ" ปรากฏขึ้นในโลก เป็นจุดเริ่มต้นแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา อันเกิดจากปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนิกชน ได้มีพระธรรมเป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิต เฉพาะประเทศไทย มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้ เรียกงานฉลองนี้ว่า "พุทธชยันตี" 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
พระพุทธศาสนาได้ดำรงอยู่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกมายาวนานถึง 2600 ปี จนถึงยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวได้เชื่อมโยงให้โลกมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน มวลมนุษยชาติสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ในมติของพระพุทธศาสนานั้น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อพระพุทธศาสนา ตัวอย่างของผลกระทบด้านบวก เช่น การเผยแพร่พระพุทธศาสนาได้อย่างรวดเร็ว กว้างขวางทั่วโลก ผู้คนสามารถเข้าถึงพระธรรม คำสอนผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้โดยสะดวก ทุกที ทุกเวลา ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบด้านลบ เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยแพร่คำสอนของพระพุทธศาสนาที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสม การดูหมิ่นพระพุทธศาสนาโดยกลุ่มคนต่างศาสนา เป็นต้น
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ICT ก้าวหน้า คนต้องพัฒนาปัญญาและวินัย” ความสำคัญตอนหนึ่งว่า “...ในขอบเขตเวลาที่เราเรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์นั้น ศาสนาถูกเหตุการณ์หรือความเป็นไปต่างๆ ในโลกนี้กระทบกระทั่งอย่างไร หรือว่าถูกผลกระทบอะไรบ้าง ศาสนาเป็นอย่างไร ศาสนาจะปรับตัวอย่างไร จุดเน้นไปอยู่ที่ศาสนา แต่ในที่นี้เห็นว่าเราไม่ควรเน้นเฉพาะที่ตัวศาสนา จึงเปลี่ยนหัวข้อเป็น ‘ศาสนากับยุคโลกาภิวัตน์’ ให้ศาสนาเป็นฝ่ายหนึ่ง และยุคโลกาภิวัตน์เป็นอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และกระทำต่อกัน คือ มองได้ทั้งในแง่ที่ว่าศาสนาได้รับผลกระทบอย่างไรจากยุคโลกาภิวัตน์ และศาสนาจะส่งผลต่อยุคโลกาภิวัตน์อย่างไร ตลอดจนศาสนาจะช่วยมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร...
...ความสำคัญของเทคโนโลยีนั้น ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็มักว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็นเครื่องทุ่นแรง ทุ่นเวลา แต่ควมจริงมิใช่แค่นั้น มีความหมายมากกว่านั้นอีก พูดอย่างภาษาชาวบ้านก็ว่า เทคโนโลยีเป็นฤทธิ์เดช หรือเป็นปาฏิหาริย์ทางวัตถุ อำนาจสำคัญของเทคโนโลยีอยู่ที่ไหน ก็อยู่ว่า เทคโนโลยีเป็นเครื่องขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ขยายอย่างไร คือเทคโนโลยีทำให้มนุษย์สามารถทำสิ่งที่อินทรีย์ธรรมดาของมนุษย์ทำไม่ได้...
...อย่างเวลานี้พระไตรปิฎกก็เอาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ลง CD-ROM ทำให้เราสามารถค้นคได้ครบถ้วนและแม่นยำด้วย อย่างเช่น เราจะค้นพระไตรปิฎกที่มีจำนวนถึง 22,000 หน้า โดยประมาณ ถ้าเราค้นคำว่า ‘สภา’ กว่าจะค้นครบอาจใช้เวลาเป็นเดือน แล้วก็ไม่แน่ว่าจะครบทุกตัว เพราะใช้ตาดูบางทีก็อาจจะผ่านไปได้โดยไม่เห็นเสียอีก ต้องดูทวนไปมาหลายรอบ แต่ถ้าเราใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพียงเวลาไม่กี่วินาทีก็ดูคำว่า ‘สภา’ ได้ครบถ้วน ว่าอยู่หน้าไหนข้อไหนบ้าง ในข้อความว่าอย่างไร หรืออย่างในเวลาที่จะศึกษาพุทธศาสนา เวลานี้ก็มีบางท่านเอา Lord Buddha’s Philosophy ลงใน Internet ทำให้สามารถศึกษาไปได้ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องของอิทธิฤทธิ์ของเทคโนโลยีที่จัดได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์อย่างหนึ่ง โดยเป็นเครื่องมือขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์...
...คนไทยเราน่าจะใช้ไอทีแบบหนามบ่งหนาม คือใช้มันให้เป็นประโยชน์แบบย้อนกลับในการศึกษาให้รู้เท่าทันอย่างจริงจัง ให้รู้เข้าใจสังคมที่พัฒนาแล้วว่า เขาเป็นอย่างไรทั้งด้านดีและด้านร้าย และกลั่นกรองเลือกเอาแต่ประโยชน์ ไม่ใช่มัวแต่ติดตามเฉพาะผลผลิตทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่จะเอามาเสพบริโภคเท่านั้น เราต้องรู้เข้าใจสภาพสังคมของเขาด้วยว่ามีดีมีด้อยอย่างไร มีส่วนที่เป็นความเจริญและความเสื่อมอย่างไร อย่างน้อยเราควรแยกได้ว่าด้านไหนควรเป็นอย่างเขา ด้านไหนไม่ควรเป็น...”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะทรงเป็นพุทธมามกะและอัครศาสนูปถัมภก ก็ได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับเนื่องแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประภาสโรงงานคอมพิวเตอร์ใหญ่ของไอบีเอ็มที่ซิลิคอนวอลเล่ย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2503 เพื่อจุดประกายให้วงการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้ว ทรงพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบและจัดทำโปรแกรมพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ (โปรแกรมนี้ว่า BUDSIR: Buddhist Scriptures Information Retrieval) รวมทั้งมีพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับสืบค้นข้อมูลดังกล่าว
ตัวอย่างเว็บไซต์ www.budsir.org
เนื่องในโอกาสมหาธัมมาภิสมัย 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้ ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเทียมกัน (Information and Communication Technology for All Club: ICT for All Club) ในฐานะองค์กร
ภาคประชาชน ซึ่งดำเนินงานเพื่อมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ในสังคม จึงได้กำหนดจัดการประชุมทางวิชาการประจำปี พ.ศ. 2555 เรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับพระพุทธศาสนา” ICT for All Symposium 2012 on “ICT and Buddhism” ขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
การประชุมวิชาการในครั้งนี้ คาดว่าจะมีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร ประชาชาชน เด็กและเยาวชน ที่สนใจเข้าร่วมงาน จำนวนประมาณ ๒๐๐ รูป/คน ซึ่งประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกิจกรรมทางวิชาการ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 (84 พรรษา) ทรงเจริญพระชนมพรรษา 85 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2555 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2555 และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2555 นอกจากนี้ พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ประชาชาชน เด็กและเยาวชน ที่เข้าร่วมการประชุมก็จะได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและเผยแพร่พระพุทธศาสนา รวมทั้ง ชมรมฯ จะได้นำผลของการประชุมครั้งนี้ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ตัวอย่างเว็บไซต์ BuddhaNet ebook Library หนังสือทางด้านศาสนาพุทธ การทำสมาธิ ประวัติ
และศิลปทางพุทธ และหนังสือเด็ก (www.buddhanet.net)
สำหรับท่านที่สนใจเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการประจำปี พ.ศ. 2555 เรื่อง “เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับพระพุทธศาสนา” ICT for All Symposium 2012 on “ICT and Buddhism” ในวันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2555 เวลา 12.30 -17.30 น. สถานที่ ณ ห้องประชุมวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ เลขที่ 20/29 ซอยงามวงศ์วาน 23 ถนนงามวงศ์วาน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี จัดโดย ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club) และภาคีองค์กรร่วมจัด สภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาผู้บริโภคไทย สมาคมรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย สภาพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง และสมาคมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ...ท่านที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่
นายทศพนธ์ นรทัศน์ โทร. 08-1261-0726 หรือลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ทางเว็บไซต์ www.ictforall.org