กบข.ออมเงินแบบเพิ่มสิบ — ลบสิบ

ข่าวทั่วไป Friday September 3, 2004 11:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--กบข.
มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความตั้งใจจะออมเงินแต่พอถึงเวลาเงินเดือนออกก็ใช้จ่ายหมดไปทุกที ทำให้ไม่เคยมีเงินเหลือเก็บเลย เรียกว่าใช้แบบไม่คิดหน้าไม่คิดหลัง มีเงินในกระเป๋าก็ใช้ ๆ ไป หารู้ไม่ว่าครอบครัว เมื่อรวม ๆ กันเข้าหลายครอบครัว ก็กลายเป็นชุมชน และหลายชุมชนรวมกันก็เป็นสังคม หลายสังคมก็ใหญ่เป็นประเทศชาติได้ ดังนั้น หากตัวเราเองไม่เก็บออมเลย ก็จะส่งผลให้ตัวเรามีหนี้สูง เมื่อรายบุคคลหลาย ๆ คนเข้าก็ทำให้ตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศเพิ่มจำนวนสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนถ้าเรายังไม่เก็บออมก็อาจส่งผลได้ในระดับประเทศในที่สุด โดยเฉพาะในยามที่รายได้ทำท่าว่าจะคงที่ ในขณะที่รายจ่ายทำท่าจะขยับสูงขึ้น ทำไงดีถ้าจะรักษามาตรฐานการมีชีวิตที่เท่าเดิมไว้ได้ โดยไม่เดือดร้อน คนที่ออมเงินไว้ล่วงหน้าเพราะคาดการณ์ไว้แล้วว่า ชีวิตคนเราจะมีอะไรเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีเงินออม เงินฉุกเฉิน และ อีกสารพัดเงินที่จะทำให้ชีวิตมีสุข
วันนี้เรามาดูกันว่าเรามีหลักการในการเก็บออมเงินกันอย่างไรกันบ้าง เพราะชีวิตเราอย่างน้อยถ้ามีหลักการที่ดีก็จะไม่เรื่อยเปื่อยไปวัน ๆ อย่างไร้ทิศทาง นั่นคือ หลักการออมแบบเพิ่มสิบ และ หลักการออมแบบลบสิบ
วิธีออมเงินแบบ “เพิ่มสิบ” ก็คือ เมื่อไรก็ตามที่เราใช้เงินออกไป ก็ขอให้บวกยอดเงินเพิ่ม เข้าไปอีก 10% ของยอดที่เราใช้ออกไป ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องจ่ายเงิน 1,000 บาทเป็นค่าเช่าบ้าน ก็ต้องกันเงินออกมาอีก 100 บาท เพื่อไปฝากธนาคารไว้ด้วย หรือถ้าวันนี้ได้ออกไปซื้อของใช้ 100 บาท ก็ต้องกันเงินไว้ 10 บาท เพื่อไปใส่บัญชีออมของเรา เป็นต้น ทั้งนี้ เราจะต้องทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าคุณจะใช้จ่ายไปในยอดเงินมากน้อยเท่าไรก็ตาม และถ้าเราแน่วแน่อย่างมีหลักการเพิ่มสิบเสมอ เราก็จะประสบความสำเร็จในการเก็บเงิน เป็นการบังคับให้ต้องคิดเสมอก่อนจะควักเงินออกไปจ่ายว่าต้องเก็บเงินทุกครั้งที่คุณใช้เงินเพิ่มขึ้น ด้วยวิธีนี้ก็จะทำให้เราระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น
สำหรับคนที่ใช้เงินเก่งและหักห้ามใจในการใช้จ่ายไม่ค่อยอยู่ ลองมาพิจารณาหลักการ "ลบสิบ" กันดูบ้าง วิธีออมเงินแบบลบสิบ ก็คือ วิธีการหักเงิน 10% ของเงินเดือนทุกเดือน ทันทีที่เงินเดือนออก ก็ให้รีบนำเงินไปฝากธนาคารไว้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เราสามารถเก็บเงินได้ 10% ของเงินเดือนก่อนที่จะถูกใช้ไป เช่น ได้รับเงินเดือน 10,000 บาท ก็นำไปฝากธนาคาร 1,000 บาท แต่ถ้ากลัวว่าจะหักเงินด้วยตัวเองไม่ได้ ก็อาจจะแจ้งธนาคารหรือที่หน่วยงานที่คุณสังกัด เพื่อโอนเงินจำนวน 1,000 บาทนั้น ไปเก็บไว้ในอีกบัญชีหนึ่งของคุณ ทันทีที่เงินเดือนออก คุณก็จะมีเงินเหลือเก็บ 1,000 บาท ซึ่งเราก็จะเหลือเงินไว้ใช้จ่ายอีกเพียง 9,000 บาท เท่านั้น
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า 10% ของเงินเดือนที่หักไปเก็บไว้นั้น ไม่ใช่เงินที่เก็บไว้ใช้สำหรับกรณีฉุกเฉิน หรือเพื่อใช้ในการท่องเที่ยว แต่เป็นเงินที่เก็บไว้ใช้ในอนาคต เวลาที่ไม่ได้ทำงาน หรือเกษียณไปแล้ว ดังนั้นต้องไม่ถอนเงินจำนวนนี้ออกมาใช้ก่อนกำหนด
เพิ่มสิบ หรือ ลบสิบ หรือจะออมมากกว่า น้อยกว่า ได้ประโยชน์ทั้งนั้นถ้าลงมือทำ เพราะจะเป็นคนที่มีเงินออมอยู่ในมืออยู่ตลอด เชื่อเถอะว่า เมื่อถึงวันที่รายได้เราคงที่หรือลดลง แต่ยังคงต้องการสถานะภาพ หรือ หน้าตาในสังคมเราคงเดิม เราก็ต้องใช้เงินมากกว่าเดิมแน่นอน ว่าแต่ว่าคนที่ไม่ออม หรือประมาทกับการดำเนินชีวิต อีกไม่นานนี้ก็คงได้เห็นผลของการไม่เก็บออมกันแล้ว
เริ่มออมช้ากว่าจึงจนมากกว่า
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2547
คอลัมน์ Financial Planing โดย คุณอมฤดา สุวรรณจินดา.--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ