กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผย ฐานะการคลังของภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามระบบ สศค. (Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาสที่ 3 เกินดุล 1.4 แสนล้านบาท เป็นผลมาจากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท
ไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2555 (เมษายน - มิถุนายน 2555) ดุลการคลังภาครัฐบาลเกินดุล 143,979ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของ GDP สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16,484 ล้านบาท โดยรัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้น 837,891 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 21,314 ล้านบาท เนื่องจากรัฐบาลจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีรถยนต์ และอากรขาเข้าได้เพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้บัญชีเงินนอกงบประมาณมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและรายได้ที่ อปท. จัดเก็บเองลดลง สำหรับการเบิกจ่ายของภาครัฐบาลรวมทั้งสิ้น 693,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4,830 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 เป็นผลจากการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 34,623 ล้านบาท จากรายจ่ายเพื่อการลงทุนและรายจ่ายประจำ ในขณะที่การเบิกจ่ายของรัฐบาลลดลง 27,751 ล้านบาท เป็นผลจากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ลดลง
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 256,723 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 40.9 ส่วนดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลและทิศทางของนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างแท้จริง โดยไม่นับรวมรายได้และรายจ่ายจากดอกเบี้ยและการชำระคืนต้นเงินกู้ขาดดุลทั้งสิ้น 157,691 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP) ขาดดุลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 65,426 ล้านบาท
นายสมชัย สัจจพงษ์ สรุปว่า “การขาดดุลการคลังของภาครัฐบาล ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 เป็นไปตามนโยบายการคลังของรัฐบาลในปีนี้ที่เป็นงบประมาณแบบขาดดุล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้การดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจะทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัวอย่างยั่งยืน”
ฐานะการคลังภาครัฐบาล ตามระบบ สศค.
ไตรมาสที่ 3 (เมษายน — มิถุนายน 2555) และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555
ฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค. ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2555 ภาครัฐบาล เกินดุลการคลังทั้งสิ้น 143,979 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของ GDP) เกินดุลสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 16,484 ล้านบาท โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของภาครัฐบาลในไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2555
1.1 รายได้ภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 837,891 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 7.2 ของ GDP) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 21,314 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 เป็นผลจากรัฐบาลจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีรถยนต์ และอากรขาเข้าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้บัญชีเงินนอกงบประมาณ มีรายได้ทั้งสิ้น 98,546 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2,373 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้ภาษีอากรสูงขึ้น สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้ทั้งสิ้น 93,105 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP) ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2,420 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.5 โดยมีสาเหตุมาจาก อปท. ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลและรายได้ที่ อปท. จัดเก็บเองลดลง
1.2 รายจ่ายภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 693,912 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 6.0 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4,830 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 โดยรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 486,036 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 27,751 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 เนื่องจากรายจ่ายงบลงทุนลดลง และแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 4,814 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 7,675 ล้านบาท หรือร้อยละ 61.5 เนื่องจากเป็นการเบิกจ่ายในช่วงปลายของแผนปฏิบัติการฯ ส่วนของบัญชีเงินนอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 85,991 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 2,501 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 สาเหตุหลักมาจากกองทุนประกันสังคมมีรายจ่ายเงินชดเชยสูงมากขึ้น นอกจากนั้น รัฐบาลมีรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศจำนวน 3,315 ล้านบาท ส่วนของ อปท. มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 113,756 ล้านบาท สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 34,623 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.8 เนื่องจาก อปท. มีรายจ่ายเพื่อการลงทุนสูงขึ้นจากการจัดซื้อครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง ประกอบกับ รายจ่ายประจำโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวในระดับปริญญาตรีขึ้นไปให้ได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็น 15,000 บาท ข้าราชการและลูกจ้างประจำในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็น 12,285 บาท และลูกจ้างชั่วคราวในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีได้รับเงินเดือนเพิ่มเป็น 9,000 บาท (ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 18 มกราคม 2555)
1.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล จากรายได้และรายจ่ายข้างต้น ส่งผลให้ภาครัฐบาลเกินดุลการคลังจำนวน 143,979 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของ GDP) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.9 สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) เกินดุลทั้งสิ้น 174,311 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.9
2. ฐานะการคลังตามระบบ สศค. ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554—มิถุนายน 2555)
2.1 รายได้ภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 2,151,098 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 18.6 ของ GDP) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 75,318 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6
2.1.1 รัฐบาลมีรายได้ 1,477,856 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 12.8 ของ GDP) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 48,049 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 เนื่องจากมีการจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้าและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงขึ้น
2.1.2 อปท. มีรายได้ทั้งสิ้น 364,926 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.2 ของ GDP) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 35,520 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.8 เนื่องจากมีรายได้ที่ อปท. จัดเก็บเองและรายได้จากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้สูงขึ้น รวมทั้งรัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. สูงขึ้น
2.1.3 บัญชีเงินนอกงบประมาณมีรายได้ 308,316 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.7 ของ GDP) ลดลงจากปีที่แล้ว 8,251 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.6 เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้จากภาษีอากรลดลง
2.2 รายจ่ายภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 2,407,821 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 20.8 ของ GDP) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 149,818 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายของรัฐบาล อปท. รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ และบัญชีเงินนอกงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.2.1 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1,773,595 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 15.3 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 90,121 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4
2.2.2 อปท. มีรายจ่ายทั้งสิ้น 302,900 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.6 ของ GDP) สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 25,900 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.3
2.2.3 รายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศจำนวน 3,253 ล้านบาท
2.2.4 บัญชีเงินนอกงบประมาณมีการเบิกจ่ายจำนวน 328,072 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 31,764 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 โดยมีสาเหตุหลักมาจากกองทุนประกันสังคมมีรายจ่ายประโยชน์ทดแทนเพิ่มมากขึ้น
2.2.5 แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีการเบิกจ่ายจำนวน 16,248 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP) ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 33,239 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.2 เนื่องจากเป็นการเบิกจ่ายช่วงปลายของแผนปฏิบัติการฯ
2.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2555 ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 256,723 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของGDP) ขาดดุลสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 74,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 40.9 ส่วนดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ขาดดุลทั้งสิ้น 157,691 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP) ขาดดุลสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 65,426 ล้านบาท หรือร้อยละ 70.9
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3551