กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--มาร์เก็ตติ้ง อินทิเกรชั่น
อินเตอร์เฟซผู้นำธุรกิจพรมแผ่นระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประกาศเป็นรายแรกของไทยที่ได้รับฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 อีพีดี (Environmental Product Declaration) เน้นการให้ข้อมูลอย่างโปร่งใสกับผู้บริโภคเพื่อประกอบการตัดสินใจ พร้อมแนะ 5 ประเด็นคำถามเพื่อธุรกิจที่ต้องการก้าวสู่การเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมอย่างแท้จริง
ฉลากสิ่งแวดล้อมอีพีดี (EPD) คล้ายกับฉลากโภชนาการผนวกกับตารางส่วนประกอบของอาหาร โดยให้ข้อมูลครอบคลุมวัฏจักรชีวิตของวัสดุ ตั้งแต่การผลิตจนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ และผ่านการรับรองโดยสถาบันที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ในการขอรับฉลาก บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ พลังงาน น้ำ อัตราการก่อมลพิษ และปริมาณขยะ ซึ่งจนถึงขณะนี้ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ผลิตจากโรงงานของอินเตอร์เฟซในประเทศไทยได้รับฉลากอีพีดีแล้ว
ในการมุ่งมั่นสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงตามปฏิญญาของบริษัท อินเตอร์เฟซตั้ง 5 ประเด็นคำถามเพื่อท้าทายวิธีการคิดและทำงานอย่างสร้างสรรค์เสมอมา ซึ่งธุรกิจที่จะก้าวเดินสู่เส้นทางสีเขียว สามารถใช้เป็นบรรทัดฐานได้ดังนี้
1)เราจะเพิ่มการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลและวัสดุชีวภาพในการผลิตได้อย่างไร อินเตอร์เฟซผู้ผลิตพรมรายแรกของโลกโดยใช้เส้นใยที่ผลิตจากข้าวโพดและถั่วเหลือง ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา อินเตอร์เฟซเพิ่มการใช้วัสดุชีวภาพในการผลิตจากร้อยละ 4 ขึ้นเป็นร้อยละ 44 ในปีที่ผ่านมา และเมื่อเร็วๆ นี้อินเตอร์เฟซยังได้นำเส้นใยที่ผลิตจากแหอวนที่เป็นขยะในทะเลมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพรมอีกด้วย
2)เราจะลดการก่อปริมาณขยะอันเกิดจากผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานแล้วได้อย่างไร อินเตอร์เฟซได้ก่อตั้งโครงการ ReEntry? เพื่อนำพรมแผ่นทั้งที่เหลือเศษในการผลิต และผ่านการใช้งานจนหมดอายุแล้วมาแยกส่วนและกลับเข้าสู่กระบวนการเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพรมแผ่นต่อไป ตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา โครงการ ReEntry? ได้ลดปริมาณขยะจากพรมแผ่นได้แล้วถึง 114,677 ตัน
3)เราจะลดปริมาณการก่อก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนได้อย่างไรนับตั้งแต่การตั้งปณิธานที่จะเป็นธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อินเตอร์เฟซลดการก่อก๊าซเรือนกระจกลงไปแล้วร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับปี 2535 ซึ่งต่ำกว่าบรรทัดฐานที่กำหนดไว้ 22,000 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ต้นไม้ 565,000 ต้นจะดูดซับในเวลา 10 ปี นอกจากนี้ ในส่วนของพลังงาน ประมาณร้อยละ 31 ของพลังงานที่อินเตอร์เฟซใช้ในการผลิต เป็นพลังงานทดแทน
4)เราจะลดปริมาณการใช้น้ำลงได้อย่างไรนับตั้งแต่ปี 1996 อินเตอร์เฟซลดการใช้น้ำลงไปแล้วกว่าร้อยละ 84 ทั้งในส่วนของโรงงาน สำนักงาน โชว์รูม และคลังสินค้า
5)เราจะให้ความมั่นใจกับลูกค้าเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าผลิตภัณฑ์ที่เขาเลือกใช้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงได้อย่างไร อีพีดี เป็นการให้ข้อมูลที่โปร่งใสเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ถึงวัฏจักรชีวิตของวัสดุ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่ลูกค้าควรได้รับทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับลูกค้าที่ต้องการได้รับการรับรองอาคารสีเขียว และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่นในการขอใบรับรองมาตรฐานสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ LEED การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองอีพีดี มีส่วนเพิ่มคะแนนให้ถึงร้อยละ 300 ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานของอินเตอร์เฟซในประเทศไทยทั้งหมด และกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์อินเตอร์เฟซทั่วโลกได้ผ่านการรับรองอีพีดีแล้ว
ตลอดเวลากว่า 18 ปี ที่อินเตอร์เฟซทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาทั้งในส่วนของขั้นตอนการผลิต และนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ ทำให้อินเตอร์เฟซได้รับการยอมรับในระดับสากลถึงความเป็นผู้นำด้านธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมที่สำคัญส่วนหนึ่งของบริษัทคือการให้ความรู้กับธุรกิจอื่นๆ หน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงชุมชน เพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนร่วมกัน
เกี่ยวกับ อินเตอร์เฟซ อิงค์
อินเตอร์เฟซ อิงค์ (NASDAQ: IFSIA) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2516 ปัจจุบันเป็นผู้นำระดับโลกด้านการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายพรมแผ่นด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทผลิตสินค้าให้แก่สำนักงาน สถานที่สาธารณะ และองค์กรต่างๆ ภายใต้แบรนด์ Interface? และผลิตสินค้าสำหรับที่พักอาศัยภายใต้แบรนด์ FLORTM
อินเตอร์เฟซ อิงค์มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา มีโรงงานผลิตในสี่ทวีป จัดจำหน่ายไปยัง 110 ประเทศทั่วโลก โดยในประเทศไทยมีบริษัท อินเตอร์เฟซฟลอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี และเมื่อเดือนเมษายน 2555 นี้เอง ชื่ออินเตอร์เฟซฟลอร์ได้เปลี่ยนเป็น อินเตอร์เฟซ และบริษัทได้เปิดตัวโลโก้ใหม่พร้อมกันทั่วโลกด้วย
บริษัทบริหารงานโดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกที่อุทิศตนแก่การพัฒนาแบบยั่งยืน ด้วยการกำหนดภารกิจมิชชั่น ซีโร่ (Mission Zero) เพื่อมุ่งมั่นขจัดของเสียให้เป็นศูนย์และลดผลกระทบอันเนื่องมาจากการผลิตที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมให้หมดไปภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563)