สพพ.๗ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครั้งที่ ๑

ข่าวท่องเที่ยว Thursday October 4, 2012 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--อพท. วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ — ๑๒.๓๐ น. ณ โถงประชุมชั้น ๓ เทศบาลตำบลท้าวอู่ทองพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ได้ดำเนินการจัดประชุม “รับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครั้งที่ ๑” ตามโครงการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน เข้าร่วมงานประมาณ ๑๓๐ คน โดยมี นายสุธรรม ยิ้มละมัย นายอำเภออู่ทอง เป็นประธานการประชุม ภายในงานได้จัดให้มีการบรรยายเรื่อง “เมืองโบราณอู่ทองและแนวทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูและการพัฒนาเมือง” เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางการพัฒนาเมือง ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็น โดยผลจากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จะถูกนำไปสังเคราะห์เพื่อจัดทำเป็นร่างแผนแม่บทฯ และนำมาใช้ในการต่อยอดการพัฒนาทางความคิดในการประชุมครั้งถัดไป โดยบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำแผนแม่บทฯ ได้แบ่งกลุ่มการรับฟังความคิดเห็นออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน และกลุ่มที่ ๒ ตัวแทนชุมชน บรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากทุกฝ่ายต่างช่วยกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองโบราณอู่ทอง มีประเด็นที่รับฟังความคิดเห็น ดังนี้ ในมุมมองของภาครัฐและเอกชน ต้องการทราบปัญหาของชุมชน และให้ชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรออกกฎระเบียบให้ชุมชนที่อยู่ใกล้โบราณสถานได้มีส่วนร่วมในการดูแลโบราณสถานและมีมาตรการป้องกันการรุกล้ำบริเวณโบราณสถาน ควรจัดทำป้ายบอกระยะทางสถานที่ท่องเที่ยว และควรขยายเส้นทางถนนให้กว้างมากขึ้น ปัจจุบันยังขาดโรงแรมที่พัก ควรมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนจัดสร้างที่พักอาศัยสำหรับนักท่องเที่ยว การจัดระเบียบการทิ้งขยะ และเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น สิ่งที่ภาครัฐและเอกชน ต้องการให้มีเพิ่มเติม คือ ต้องการให้ประชาชนได้เรียนรู้การสร้างอาชีพเพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีงานทำมีอาชีพที่สุจริต ต้องการอนุรักษ์บ้านเก่าและโบราณสถาน เจดีย์ต่าง ๆ และต้องการฟื้นฟูพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองและตลาดอู่ทองให้น่าเข้าไปใช้บริการ รวมทั้งต้องการพัฒนาป้ายสัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายในการเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ในมุมมองภาคประชาชน ประชาชนเห็นความสำคัญของแม่น้ำจระเข้สามพัน และเรือนแถวเก่าในตำบลอู่ทอง ต้องการอนุรักษ์โบสถ์เก่าที่วัดเขาทำเทียม และพัฒนาสวนหินพุหางนาคเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่เชิงระบบนิเวศที่สามารถศึกษาพันธุ์พืช พันธุ์ไม้ สร้างความเข้าใจเชิงธรณีวิทยาและชั้นหิน การฟื้นฟูน้ำตกที่สวนหินพุหางนาค ต้องการประชาสัมพันธ์การลอยกระทงสวรรค์ที่วัดเขาพระศรีสรรเพชรให้เป็นที่รู้จัก รวมทั้งงานแห่ธง การละเล่นชักกะเย่อ การร้องเพลงฉ่อย การสานปลาตะเพียน ประเพณีสงกรานต์ การหล่อพระเรซิ่นนิล และต้องการสานต่ออาชีพการปลูกถั่ว ปลูกมันสำปะหลัง การทำขนมไข่หงส์ ขนมชั้น เต้าหู้แผ่น การเจียระไนพลอยและนิล การทำอาหารท้องถิ่น เช่น การทำน้ำพริกเผา ตลอดจนอนุรักษ์ภาษาจีนลาวโซ่ง ภาษาสุพรรณ สิ่งที่ประชาชนต้องการเพิ่มเติมคือ ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาขยะรอบคูคลอง ริมน้ำ เช่น บริเวณชุมชนวัดเขาพระศรีสรรเพชร และควรออกมาตรการในการห้ามเผาขยะในชุมชน ซึ่งภาครัฐควรจัดให้มีถังขยะที่มีการแยกขยะเปียก ขยะแห้ง เพื่อให้ประชาชนแยกทิ้งขยะ ซึ่งประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือในการแยกขยะ ประชาชนต้องการทางเดินเท้าที่ปลอดภัย เนื่องจากถนนในตำบลอู่ทองหลายช่วงไม่มีทางเดินเท้ามีแต่ไหล่ทาง และควรสร้างความปลอดภัยในทางโค้ง ทางลาด การทำทางแยก และจัดให้มีแสงสว่างเพียงพอส่องสว่างป้ายบอกทาง ควรจัดให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ต้องควบคุมสภาพอาคารที่ก่อสร้างใหม่ไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารทรงสูงและควรสร้างเป็นกลุ่มอาคารที่คล้ายคลึงกันให้น่ามองดูแล้วสบายตา ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวสวนหินพุหางนาคไปพร้อมกับการสร้างเส้นทางส่งเสริมอาชีพระหว่างทางไป-กลับของนักท่องเที่ยวไปพร้อมกัน ทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม การนวดฝ่าเท้า นวดไทยและสปา ร้านค้าของที่ระลึก และต้องจัดให้มีการอบรมการประกอบอาชีพ อบรมการขายสินค้าและการสร้างตลาดการจัดจำหน่าย อุปสรรคที่สำคัญของประชาชนคือ การเข้าไม่ถึงข่าวสารต่าง ๆ จึงต้องการให้เทศบาลจัดให้มีเครื่องกระจายเสียงในชุมชน และต้องการให้เทศบาลปรับปรุงการแจ้งข่าวสารแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งประชาชนยินดีที่จะประชุมข่าวสารเป็นประจำทุกเดือน โดยให้หัวหน้าชุมชนเป็นแกนนำในการประชุม และต้องการมีแผนที่ระบุพิกัดขนาดใหญ่ที่ชัดเจน เพื่อให้คนในชุมชนเข้าใจเส้นทางถนน สถานที่ท่องเที่ยว จุดสังเกตต่าง ๆ เพื่อสร้างความชัดเจนในการทำความเข้าใจร่วมกันในชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองโบราณอู่ทองให้ดียิ่งขึ้น ติดต่อ: สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (สพพ.๗) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โทร.๐ ๘๔๑๖ ๓๗๕๙๙ Facebook พื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง อีเมล์ dastaarea7@gmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ