กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--PwC
ผลการศึกษาล่าสุด พบการผลิตรถยนต์ทั่วโลกจะยังทำสถิติใหม่ทุกปีไปจนถึงปี 2560 แต่การผลิตในยุโรปจะยังไม่ฟื้นคืนสู่ระดับก่อนวิกฤตจนกระทั่งสี่ปีข้างหน้า เหตุพิษวิกฤตหนี้กระทบยอดขาย ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นยังมุ่งขยายสายการผลิตนอกบ้านเพื่อลดปัญหาค่าเงินเย็น แต่แนวโน้มระยะยาวยังไม่สดใส
แนวโน้มการควบรวมกิจการ (M&A) ในอุตสาหรรมธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ (Auto suppliers) ของโลกจะยังคงมีมากขึ้น และเติบโตขึ้นเรื่อยๆในระยะข้างหน้า แม้ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลกจะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของธุรกิจ ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ในยุโรป ยังถูกจับตามองว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของการควบรวมจากผู้ซื้อทั้งในอเมริกา และตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญในเอเชียอย่างจีนเพิ่มมากขึ้น
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหารและหุ้นส่วน PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เปิดเผยถึงผลการศึกษา PwC’s Consolidation in the Global Automotive Supply Industry ครั้งที่ 5 ประจำปี 2555 ว่า ตลาดอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของโลก ยกเว้น แถบยุโรปตะวันตก ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีสินทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Undervalued) อยู่มาก โดยคาดว่า แนวโน้มของกิจกรรมการควบรวมกิจการในธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์จะยังโตได้ใกล้เคียงกับระดับสูงสุด (Record high) ในปี 2555 ด้วยจำนวนธุรกรรมกว่า 270 ธุรกรรมทั่วโลก
ผลการศึกษา ยังพบว่า “ผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ อะไหล่และอื่นๆในยุโรป ถูกมองเป็นเป้าหมายสำคัญของการควบรวมเป็นเวลาถึงสองปีติดต่อกัน,” นาย ศิระกล่าว
นาย ดีตม่าร์ ออสตามันน์ หัวหน้าธุรกิจที่ปรึกษาด้านยานยนต์ทั่วโลกของ PwC และ ผู้ทำการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จะพบว่ามีผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ อะไหล่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แถบอเมริกาเหนือ และจีน แสดงความสนใจในการควบรวมบริษัทคู่แข่งจากยุโรปเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ผลิตระบบขับเคลื่อนรถยนต์ (Powertrain)
“ผู้บริหารกลุ่มยานยนต์ควรต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงไปของอุตสาหกรรม ในภาวะที่ผู้ประกอบการชั้นนำถูกคาดหวังให้ต้องมีการรับจ้างทำและผลิตสินค้าเพื่อสนับสนุน OEM platforms ที่เป็นโกลบอลมากขึ้น รวมทั้งควรมองหาช่องทางใหม่ๆในการขยายการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพไปในตลาดออโต้ที่ใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างจีน ทั้งในแง่ของ JV OEMs และตลาดผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศของจีนเองด้วย”
ทั้งนี้ ผลการศึกษาประจำปี 2555 เกิดจากการเก็บรวบรวมข้อมูล ของผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ อะไหล่และอื่นๆจำนวน 700 รายโดยมีรายได้ปี 2554 รวมกัน (aggregate revenues) ถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมประเทศต่างๆในหลายทวีปทั้งยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ ได้แก่ บราซิล จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
PwC ยังศึกษาถึงกลุ่มผู้ผลิต ว่า Suppliers รายใดที่มีแนวโน้มที่จะเร่งการขยายธุรกิจของตนเอง ผ่านการเข้าซื้อกิจการ หรือขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก และผู้ผลิตรายใดที่อาจจะยังต้องการความช่วยเหลือทางการเงินหรือการปรับโครงสร้าง (Restructuring)
ผลรายชื่อของ PwC ในปีนี้ พบว่า 25 บริษัทแรกที่มีศักยภาพในการควบรวมกิจการ (Consolidators) จากบริษัทผู้ผลิตชั้นนำจำนวน 100 รายทั่วโลกที่ทำการศึกษา มีบริษัทจากอเมริกาเหนือถึง 14 ราย และมีเพียงผู้ผลิตจากยุโรปเพียง 5 ราย นอกจากนี้ 10 บริษัทจากในรายชื่อทั้ง 25 บริษัทนี้ ยังเป็นบริษัทในกลุ่มผู้ผลิตระบบขับเคลื่อนรถยนต์ทั้งสิ้น
PwC ได้ทำการประเมินผู้ที่มีศักยภาพในการควบรวมกิจการแต่ละรายโดยวัดผลจาก “คะแนนผู้ซื้อ” ซึ่งเครื่องมือวัดจากความสามารถทางการเงินและการดำเนินงานในการเข้าซื้อผู้ผลิตรายอื่น และ “ทัศนคติของผู้ซื้อ” ซึ่งวัดจากความสนใจในการเข้าซื้อกิจการ
ผลการศึกษาที่สำคัญอีกประการหนึ่งกล่าวถึง ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ และอะไหล่ของผู้ประกอบการทั้งในยุโรป, อเมริกาเหนือ, ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้โดยรวม ที่ยังไม่ฟื้นคืนสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤต โดยดูได้จากการใช้จ่ายของบริษัทในการขยายกิจการ (Capex) ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต
Capex ที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ของบริษัทผู้ผลิตฯ ชั้นนำ 100 อันดับแรกของโลกกลับมาฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยในปี 2554 ที่ร้อยละ 4.1 หลังจากปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุด (All-time low) ในปี 2553 ที่ร้อยละ 3.6 และเปรียบเทียบกับ ร้อยละ 5.1 ในปี 2551 แต่สิ่งที่น่าสนใจในขณะเดียวกัน คือ ผู้ผลิตฯ ในประเทศจีนได้มีการเพิ่มงบรายจ่ายเพื่อการลงทุนมากขึ้นถึงร้อยละ 10.5 จากร้อยละ 7.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน
“เวลาที่เราทำงานกับลูกค้าที่ทำธุรกิจ OEM ในเรื่องของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินว่า กำลังการผลิตของผู้ผลิตหลายรายนอกตลาดยุโรปนั้นเริ่มตึงตัว โดยเฉพาะในแถบอเมริกาเหนือ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้ผลิตฯในอเมริกาเหนือเอง ก็เลือกที่จะไม่ลงทุนขยายกำลังการผลิตในตลาดบ้านของตัวเอง แต่หันไปมองตลาดเกิดใหม่อย่างจีนมากขึ้น ซึ่งปัญหาการขาดแคลนกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องตรงนี้ ก็น่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับ Suppliers บางรายที่ต้องการเข้าไปเลือกลงทุนในตลาดสหรัฐฯด้วย,” นาย ออสตามันน์ กล่าว