ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร “ช. การช่าง” ที่ “A-” พร้อมแนวโน้ม “Stable”

ข่าวทั่วไป Tuesday September 7, 2004 08:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” ซึ่งอันดับเครดิตสะท้อนสถานะของบริษัทในความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ผลงานโครงการก่อสร้างภาครัฐที่เป็นที่ยอมรับ และรายได้ที่สม่ำเสมอจากการลงทุนในกิจการสัมปทาน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันประมูลงานโครงการภาครัฐต่อไปได้ โดยคาดว่ารายได้จากเงินปันผลและผลตอบแทนจากการลงทุนในกิจการสัมปทานจะช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีและมีระดับเงินกู้ที่ลดลงในอนาคต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัท ช. การช่าง ก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลตรีวิศวเวทย์ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ณ เดือนสิงหาคม 2547 ตระกูลตรีวิศวเวทย์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 46% และส่วนที่เหลือ 10% ถือโดยธนาคารทหารไทย และอีก 44% ถือโดยหน่วยงานอื่น งานก่อสร้างของบริษัทครอบคลุมตั้งแต่งานโยธาพื้นฐานจนกระทั่งถึงงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยบริษัทมีชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างทางยกระดับและระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ งานรับเหมาก่อสร้างภาครัฐเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 70%-90% ของรายได้จากงานก่อสร้างทั้งหมดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และทำให้บริษัทมีความแน่นอนในการจัดเก็บรายได้ รวมทั้งยังสร้างโอกาสในการรับงานจากภาครัฐต่อไป โดยโครงการก่อสร้างของภาครัฐที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนั้นจำเป็นต้องใช้ผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์สูงและเป็นงานที่ให้อัตราผลกำไรในระดับสูง ณ เดือนมิถุนายน 2547 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างคงค้างคิดเป็นมูลค่า 21,997 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4,199 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 โดยบริษัทมีมูลค่าของโครงการวงแหวนด้านใต้คิดเป็น 66% ของมูลค่ารวม ทั้งนี้ มูลค่างานดังกล่าวน่าจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่องอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี
กลยุทธ์ของบริษัทในการร่วมทุนและทำธุรกิจกับพันธมิตรต่างชาติที่มีชื่อเสียงและมีความชำนาญเฉพาะด้านช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการประมูลงาน อีกทั้งบริษัทยังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยซึ่งจะช่วยให้รับงานก่อสร้างที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นได้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้าง 2 รายของโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะที่ 1 ทำให้บริษัทน่าจะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้รับเหมาในโครงการขยายการขนส่งระบบรางในอนาคต บริษัทมีการขยายธุรกิจสู่การลงทุนในกิจการสัมปทานที่เกี่ยวเนื่องกับระบบสาธารณูปโภคซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงและสนับสนุนธุรกิจหลักด้านก่อสร้างของบริษัท ที่นอกจากจะทำให้บริษัทมีรายได้จากงานก่อสร้างมูลค่ารวม 58,000 ล้านบาทแล้ว รายได้จากกิจการสัมปทานยังเป็นแหล่งรายได้ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อพิจารณาจากวัฏจักรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง โดย ณ เดือนธันวาคม 2546 บริษัทได้ลงทุนในกิจการสัมปทานคิดเป็นมูลค่า 6,037 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการถือหุ้น 14% ใน บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) 23% ใน บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (BMCL) 29% ใน บริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด (PTW) และ 15% ใน บริษัท ประปาไทย จำกัด (TTW) โดยบริษัทมีรายได้เงินปันผลจาก BECL จำนวน 165 ล้านบาทสำหรับผลการดำเนินงานในปี 2546 ในส่วนของความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้นอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับรายอื่น บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 7.3% ในปี 2544 และ 9.3% ในปี 2545 เป็น 12.9% ในปี 2546 อัตราส่วนเงินกู้ต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 62.6% ณ เดือนมิถุนายน 2547 เนื่องจากบริษัทได้ขยายการลงทุนไปในกิจการสัมปทานและการมีภาระหนี้จากโครงการในอดีต เงินกู้ของบริษัทอยู่ในระดับสูงที่ 6,163 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2546 ซึ่ง 62% มาจากโครงการก่อสร้างทางด่วนสายบางนา บางพลี บางปะกง
งานรับเหมาก่อสร้างเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนและมีการแข่งขันค่อนข้างสูง การเติบโตของธุรกิจขึ้นอยู่กับงบประมาณใช้จ่ายในการก่อสร้างของภาครัฐและการใช้จ่ายลงทุนของภาคเอกชน คาดว่าโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตจะช่วยลดความรุนแรงของการแข่งขันลงได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัสดุก่อสร้างเป็นปัจจัยเสี่ยงและส่งผลลบต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้รับเหมาก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม สัญญาที่มีค่า K (Escalation Factor) ระบุไว้ในโครงการของภาครัฐน่าจะช่วยลดความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความผันผวนของราคาค่าวัสดุก่อสร้างได้บางส่วน ในขณะที่ราคาประมูลใหม่น่าจะรวมผลกระทบของราคาวัสดุที่สูงขึ้นเข้าไว้ด้วยแล้ว ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ