กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--กรมศิลปากร
กรมศิลปากร ชูยุทธศาสตร์เชิงรุกจากโครงการ Creative Fine Arts : เศรษฐกิจ สร้างสรรค์จากทุน ทางวัฒนธรรม นำวิทยากรจากกรมศิลปากรจัดอบรม ส่งเสริมเยาวชนนำองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายนำมาพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์สร้างงาน สร้างรายได้ ขยายผลสู่การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในอนาคต นำร่องโรงเรียนบ้านสงเปือย จังหวัดยโสธร ตัวอย่างความสำเร็จต่อยอดจากศิลปวัฒนธรรม “ศิลาจารึก ลวดลายพฤกษา เยี่ยมหน้ากุฑุ สิงห์คู่ดงเมืองเตย” สร้างลวดลายบนผลิตภัณฑ์หมอน เสื้อ กระเป๋าสตางค์ ซองใส่ flash Drive และปกสมุดบันทึก
นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า โครงการ Creative Fine Arts : เศรษฐกิจ สร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม เป็นโครงการที่มีเนื้อหาสาระรวมองค์ความรู้จากงานศิลปะวัฒนธรรมไทยแขนงต่างๆ เข้ามาประยุกต์ต่อยอดและพัฒนาลงบนผลิตภัณฑ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยกรมศิลปากรจัดทำหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญแต่ละแขนงเป็นผู้ให้ข้อมูลความรู้ด้านมรดกศิลปวัฒนธรรม ไปสู่ชาวบ้าน ชุมชน โรงเรียน
กรมศิลปากรมีเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมแต่ละแขนงทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ และฝึกอบรมศิลปกรรมแขนงต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนนำไปต่อยอดทางความคิดเพื่อพัฒนาชิ้นงานให้มีคุณภาพต่อไป และขยายผลไปสู่การนำผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรมไทยไปสร้างชื่อในตลาดต่างประเทศ
อีกทั้งกรมศิลปากรยังมีแผนมุ่งส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์แก่ชุมชนไปยังกลุ่มเยาวชนเพื่อสร้างต้นแบบผู้ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์จากทุนทางมรดกศิลปวัฒนธรรมแห่งอนาคต อันเป็นการรักษาศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายให้คงอยู่สืบไป
อธิบดีกรมศิลปากร ยกตัวอย่าง การส่งเสริมเยาวชนในโรงเรียนบ้านสงเปือย จังหวัดยโสธรนั้นเป็นตัวอย่างความสำเร็จต่อยอดจากศิลปวัฒนธรรม “ศิลาจารึก ลวดลายพฤกษา เยี่ยมหน้ากุฑุ สิงห์คู่ดงเมืองเตย” สร้างลวดลายบนผลิตภัณฑ์หมอน เสื้อ กระเป๋าสตางค์ ซองใส่ flash Drive และปกสมุดบันทึก สามารถออกจำหน่ายได้จริง สร้างรายได้ให้กับนักเรียนเพื่อเป็นทุนการศึกษาต่อไป
นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้สนับสนุนโครงการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากมรดกศิลปวัฒนธรรม โดยสำนักช่างสิบหมู่ไปยังกลุ่มเยาวชน โดยการนำวิทยากรจากกรมศิลปากรไปให้ความรู้ในรูปแบบการฝึกอบรม จัดทำค่ายยุวชน เพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากมรดกศิลปวัฒนธรรมร่วมกัน อาทิ
- งานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สร้างสรรค์งานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา เพื่อการตกแต่งและเป็นของที่ระลึก
- งานประติมากรรม สร้างสรรค์ต้นแบบงานประติมากรรมเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ต้นแบบช้าง ต้นแบบกระทิง ต้นแบบกินรี ต้นแบบเงือกคู่ ต้นแบบม้านิลมังกร ต้นแบบม้า ต้นแบบสิงโต ต้นแบบเสือ ต้นแบบสุนัข
- งานจิตรกรรม สร้างสรรค์งานจิตรกรรม งานต้นแบบเทพเจ้าแห่งศิลปะวิทยาและการช่างไทย
- งานประณีตศิลป์ เรือจำลอง “นารายณ์ทรงสุบรรณ” , หน้ากากหัวโขน , งานปั้นปูนสดรูปสัตว์หิมพานต์ เครื่องประดับงานมุก
“ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เผยแพร่เรื่องทุนทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมาเพื่อให้คนรุ่นหลัง ได้ภาคภูมิใจและนำความงามและเอกลักษณ์ของความเป็นไทยมาต่อยอดผลิตชิ้นงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างชื่อให้ทั่วโลกได้รู้จัก ไปพร้อมกับการสร้างชื่อให้ประเทศไทย” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวปิดท้าย