กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--กทม.
ผู้ว่าฯ ใหม่เข้ารับตำแหน่งวันแรก จับมือข้าราชการเดินหน้านโยบายเชิงรุก 3 เดือนแรก แก้ ไข 4 ปัญหาเร่งด่วน จราจร ความปลอดภัย ขยะและสิ่งแวดล้อม และน้ำท่วม ยึดหลักบริหารจัดการรุ่นใหม่ เน้นประชาชนมีส่วนร่วม โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ พร้อมเปิดสายด่วนผู้ว่าฯ อภิรักษ์ และรายการคุยกับผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ทางจส.100 สร้างความพึงพอใจแก่ประชาชน
เมื่อวานนี้ (6 ก.ย. 2547) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางเข้ามาเริ่มต้นทำงานที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โดยช่วงเช้าเวลา 07.00น. ได้กราบสักการะพระพุทธศรีศากยมุนี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม จากนั้นได้เดินไปเยี่ยมเยียนและขอบคุณประชาชนบริเวณสองฟากถนนดินสอรอบศาลาว่าการกทม. โดยมีประชาชนร่วมแสดงความยินดีเป็นจำนวนมาก และเมื่อเดินถึงศาลาว่าการกทม. ได้เข้ากราบสักการะพระพุทธนวราชบพิตร และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของ กทม.
ต่อมาในเวลา 09.00 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ได้เข้ารับมอบงานจากนายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่บริเวณห้องอเนกประสงค์ และรับช่อดอกไม้แสดงความยินดีจากตัวแทนสภากรุงเทพมหานคร รวมทั้งรับของขวัญ OTOP จากปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมกับเปิดแถลงข่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์นโยบายของตนตลอดช่วงของการเลือกตั้ง
โอกาสนี้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ได้เปิดเผยถึงภารกิจเร่งด่วนที่จะเร่งกระทำในช่วง 3 เดือนแรกของงานว่า จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาจราจร ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาขยะตกค้าง รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม และการป้องกันน้ำท่วมในกทม. โดยวันนี้ ได้มอบนโยบายดังกล่าวแก่บรรดาคณะผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงของกทม. พร้อมทั้งประเดิมงานแรกด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่ สำนักการจราจรและขนส่ง ที่กทม.2 ในช่วงบ่าย เพื่อเร่งรัดผลักดันการแก้ปัญหารถติดที่คนกรุงเทพฯ ยกให้เป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่ง ทั้งนี้โครงการเร่งด่วนที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ได้วางแผนทำงานไว้ ประกอบด้วย
1.ติดตามปัญหาตามนโยบายเร่งด่วน
1.1 ปัญหาจราจร บ่ายวานนี้ ( 6 ก.ย.47) ตรวจจุดรถติดรุนแรง บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถ.พหลโยธิน จากนั้นขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ตรวจสภาพการจราจรชั่วโมงเร่งด่วน และตรวจพื้นที่ทั่วกทม. เช้าวันอังคารที่ 7 กันยายน ตรวจเยี่ยมจุดจราจรติดขัดรุนแรง ที่สี่แยกลำสาลี ถนนรามคำแหง และสี่แยกอื่นๆ พร้อมกับสำรวจเส้นทางรถเมล์ด่วนพิเศษ BRT สายแรก ถนน เกษตรนวมินทร์-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต จากนั้นจะนำข้อมูลเข้าพบ ฯพณฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2547 เวลา 09.30น. เพื่อประสานความร่วมมือการแก้ปัญหาจราจร รวมทั้งจะเข้าพบหารือกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย องค์การรถไฟฟ้ามหานคร การรถไฟแห่งประเทศไทย รถไฟฟ้าBTS กรมเจ้าท่า ฯลฯ เป็นต้น
1.2 ปัญหาด้านความปลอดภัย เช้าวันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน จะประชุมเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา และสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกทม. พร้อมตรวจจุดที่เป็นปัญหา เช่น อาคารสูง ซอยมืดเปลี่ยว สะพานลอยที่เป็นจุดเสี่ยงต่อปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งจะเร่งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองบัญชาการตำรวจนครบาล การไฟฟ้านครหลวง โดยทันที
1.3 ปัญหาด้านความสะอาดและสิ่งแวดล้อม เช้าวันศุกร์ที่ 10 กันยายน จะประชุมเจ้าหน้าที่สำนักรักษาความสะอาด พร้อมออกตรวจสอบ ปัญหาการจัดเก็บขยะ โครงการแยกขยะตามบ้าน และจุดขนถ่ายขยะ โดยมีนโยบายจะส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจ ให้แก่พนักงานจัดเก็บและกวาดขยะ เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพต่อประชาชน
1.4 ปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝนและน้ำทะเลหนุน ได้เตรียมการประชุมกับเจ้าหน้าที่สำนักระบายน้ำเพื่อวางแผนรับมือกับปัญหา น้ำท่วมกรุงเทพฯ พร้อมตรวจจุดน้ำท่วมซ้ำซาก ในวันเสาร์ที่ 11 กันยายนศกนี้
2. โครงการรับเรื่องราวร้องทุกข์
เร่งรัดจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและร้องทุกข์ (Call Center) โดยใช้ชื่อ “สายด่วนผู้ว่าฯ อภิรักษ์” ให้เสร็จภายใน 30 วัน เพื่อเป็นหน่วยงานกลางรับแจ้งปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเหตุเดือดร้อนได้ 4 ช่องทาง คือ
1) โทรศัพท์สายด่วน หมายเลข 1555
2) ส่งจดหมาย
3) ส่งอีเมลทางอินเทอร์เน็ต
4) ร้องเรียนด้วยตนเอง ที่ศาลาว่าการกทม. และสำนักงานเขตต่างๆ
ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกประมวลจัดหมวดหมู่ นำเสนอถึงผู้ว่าฯ กทม.โดยตรง พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขโดยทันที
3. โครงการร่วมแก้ปัญหา “50 วัน 50 เขต”
ผู้ว่าฯกทม. จะลงพื้นที่วันละ 1 เขตปกครอง เพื่อติดตามการทำงานของแต่ละเขต และร่วมกันแก้ไขปัญหาเฉพาะในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และภาคประชาชน โดยกำหนดเวลาดำเนินการให้ครบ 50 เขต ภายใน 3 เดือน
4. โครงการ “คุยกับผู้ว่าฯ อภิรักษ์”
โดยความร่วมมือกับสถานีวิทยุ จส.100 ผู้ว่าฯกทม.จะรายงานสรุปกิจกรรมการทำงาน และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ร้องเรียนเข้ามาในรอบสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเปิดสายให้ประชาชนโทรศัพท์เข้ามาพูดคุย เสนอแนะแนวทางการทำงาน และแก้ปัญหาของกทม.ด้วย
5. โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อติดตามตรวจสอบผู้ว่าฯ กทม.
5.1 จัดตั้งสภาติดตามประเมินผลการบริหารจัดการกทม. โดยมี ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน และมีตัวแทนภาคประชาชนส่วนต่างๆร่วมเป็นกรรมการ เพื่อการมีส่วนร่วมในการเสนอแนะและตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯกทม.
5.2 ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนทุก 3 เดือน ต่อแนวทางการแก้ปัญหาของผู้บริหารกทม. เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงงานให้สอดคล้องตามความต้องการของประชาชน
สำหรับงานใหญ่งานแรกที่กทม.จะเป็นเจ้าภาพ ในวันอังคารที่ 7 กันยายนศกนี้ เวลา 17.00น. คือ งานเลี้ยงแสดงความยินดีต่อ “น้องวิว” หรือ นางสาวเยาวภา บุรพลชัย นักกีฬาเทควันโดเหรียญทองแดง โอลิมปิค 2004 รวมทั้งเลี้ยงขอบคุณนักกีฬาชาวกรุงเทพมหานคร ที่ไปร่วมแข่งขันโอลิมปิคในปีนี้ทุกคน ที่บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกทม. โดยจะมีภาคเอกชนเข้าร่วมแสดงความยินดีกับนักกีฬาคนเก่งของกทม.ด้วย
เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์มอบหลักธรรม 6 ประการให้ผู้ว่าฯ คนใหม่
ในวันเดียวกันนี้ เวลา 13.00 น. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะกราบนมัสการพระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามฯ ได้นำหลักธรรมทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับการเป็นผู้นำที่ดีมาให้โอวาทแก่ผู้ว่าฯ กทม.ความว่า บุคคลซึ่งเป็นผู้นำแสวงหาประโยชน์อันยิ่งใหญ่เพื่อสังคมพึงประกอบด้วยคุณสมบัติ 6 ประการดังนี้
1. พึงมีความอดทน อดกลั้น ไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและการทำงาน
2. มีความตื่นตัวทันต่อเหตุการณ์ รู้ถึงสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตเพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อมรับสถานการณ์ทั้งดีและร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
3. มีความขยันหมั่นเพียรในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
4. มีความเสียสละไม่ว่าจะเป็นในด้านเวลา หรือทรัพย์สิน เพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงได้ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ประชาชน และองค์กร
5. มีความเมตตา กรุณา ปราณี และยุติธรรม ต่อผู้ใต้บังคับบัญชา
6. มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รู้ว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และนำการเปลี่ยนแปลงนั้นมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงาน หากผู้นำแห่งสังคมใด มีคุณสมบัติดังที่กล่าวมาทุกประการ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ดี และจะสามารถนำพาผู้ใต้บังคับบัญชา องค์กร รวมทั้งสังคมไปสู่แนวความเจริญก้าวหน้า และเป็นสังคมที่ดีต่อไป--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--