กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงแรงงาน ในการดำเนินภารกิจเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐานฝีมือแรงงานไทย ให้มีมาตรฐานทัดเทียมเป็นที่ยอมรับของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้เป็นที่ยอมรับ (พ.ศ.๒๕๕๖-๒๔๔๘) จากผู้ประกอบการ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เป็นกิจกรรมภายใต้ “โครงการจัดทำแผนกลยุทธ์ขับเคลื่อนมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เป็นที่ยอมรับ (พ.ศ.๒๕๕๖ — พ.ศ.๒๕๕๘)” ซึ่งสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ได้มอบหมายให้สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเป็นที่ปรึกษาและดำเนินการจัดกิจกรรม โดยได้รับเกียรติจากรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล เป็นประธานในงาน และฟังการบรรยายจาก ดร.ปิติ ศรีแสงนาม นักวิชาการจากศูนย์อาเซียนศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “กรณีศึกษาการเปิดเสรีการค้าภาคบริการ โอกาสและความอยู่รอดของแรงงานไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมปรินซ์พาเลส มหานาค
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะผลักดันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน และดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ในการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานไทยเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในภูมิภาคอาเซียน โดยมุ่งหมายให้ประเทศไทยมีบทบาทในการเป็นผู้นำในอาเซียนร่วมกับประเทศอื่นๆได้อย่างมีศักยภาพ ตลอดจนเร่งดำเนินการ ให้เกิดการยอมรับมาตรฐานฝีมือระหว่างประเทศ เพื่อรองรับและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ภายใต้ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘
ว่าที่ ร.ต. สมศักดิ์ พรหมดำ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ กล่าวถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมของไทยไว้ว่า “เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เริ่มก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะ (Skilled Workers และ Multi-Skilled Worker) มากขึ้น และจะก้าวไปสู่การผลิตบนพื้นฐานองค์ความรู้ (Knowledge -based) ต่อไปในไม่ช้า อีกทั้งไม่นานต่อจากนี้ ประเทศไทยจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งจะทำให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรี ของสินค้า บริการ การลงทุน และที่สำคัญคือแรงงาน ซึ่งนับเป็นการท้าทายและเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งรับผิดชอบต่อการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศให้สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ และเตรียมรองรับกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี จึงต้องเร่งพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงานไทยให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและต้องผลักดันให้มาตรฐานฝีมือแรงงานให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน ซึ่งจำเป็นต้องมีแผนกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนที่ชัดเจนและให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนงาน”
ด้านรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล กล่าวว่า “รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับทิศทางนโยบายของประเทศในการพร้อมรับการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้านแรงงานที่จะมาถึงในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งจะต้องมีความพร้อมทั้งในเชิงรุกที่จะสามารถทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีให้มากที่สุด และในเชิงรับที่ต้องปกป้องและแก้ไขผลกระทบในแง่ลบต่างๆ ที่อาจเกิดกับแรงงานไทย การดำเนินการรณรงค์ ผลักดัน และขับเคลื่อน “ระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ” เพื่อพัฒนามาตรฐานและผลิตภาพแรงงานไทยและตลาดแรงงานไทยสู่การยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้การบริหารจัดการเพื่อเตรียมพร้อมและรองรับข้อตกลง AEC ด้านแรงงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ที่สามารถใช้สำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะฝีมือเดียวกัน ทำให้แรงงานมีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้ายมากขึ้นเพราะมีเกณฑ์กลางรองรับ ขณะที่ผู้ประกอบการและนายจ้างก็จะได้แรงงานที่มีคุณภาพผ่านการรับรองมาตรฐานอีกด้วย โดยต่อไปอาจพัฒนาไปสู่การจัดตั้งองค์กรกลางที่จะจัดการเรื่องมาตรฐานฝีมือกลางของกลุ่มอาเซียน เพื่อความเป็นเอกภาพในการจัดระดับและรับรองฝีมือแรงงาน”
ติดต่อ:
ส่วนประชาสัมพันธ์
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
โทรศัพท์ 0-2619-5500 ต่อ 405