กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร
ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นภายหลังสหรัฐอเมริกาประกาศมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) ซึ่งส่งผลดีต่อสภาพคล่องของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอดจำหน่ายยานพาหนะในสหรัฐอเมริกาเดือนกันยายนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากเดือนเดียวกันในปีก่อน และเพิ่มมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551
ในขณะเดียวกันปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจกลุ่มสหภาพยุโรปเริ่มชะลอตัว ประกอบกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลในเชิงบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาคการผลิตในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปยังไม่ขยายตัว เนื่องด้วยมาตรการทางการคลังในการปรับลดรายจ่ายของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณซึ่งยังไม่ส่งผลในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ จึงทำให้โดยรวมแล้วเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจโลกยังไม่ขยายตัวเท่าที่ควร
สำหรับสถานการณ์การผลิตยางพาราของโลกพบว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนการผลิตประมาณ 80% ของการผลิตยางของโลกมาจาก 5 ประเทศหลัก คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย และ เวียดนาม โดยประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 30% ของการผลิตทั้งโลก อย่างไรก็ตามพบว่าประเทศที่เริ่มมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาคือประเทศเวียดนาม ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนการผลิตประมาณ 7.0% ในปี 2554
ในส่วนของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักของการผลิตยางพารา ประมาณได้ว่ามีผู้ปลูกยางกว่า 90%: ซึ่งเป็นผู้ปลูกรายย่อย ขณะเดียวกันจากข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศไทยพบว่ามีพื้นที่ปลูกรวมกับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตยางได้ประมาณ 3.52 ล้านตัน ประมาณ 34% ของผลผลิตของโลก แต่จะเห็นว่าผลผลิตต่อไร่ของประเทศไทยในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงจากช่วงก่อน
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาปริมาณการใช้ยางพาราของโลกอยู่ที่ประมาณ 11.0 ล้านตันต่อปี โดยประมาณ 70% ของปริมาณการใช้ยางพาราของโลกอยู่ในประเทศหลักๆ 5 ประเทศ คือ จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป ปริมาณการใช้ยางพาราประมาณ 35% ซึ่งคิดเป็นจำนวน 3.4 ล้านตัน ของการใช้ยางพาราโลกเป็นการใช้ยางพาราของประเทศจีน
สำหรับราคายางพารา ราคาส่งมอบ ณ เดือน พฤศจิกายนที่ตลาด AFET ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 103.50 บาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเมื่อย้อนหลังไปถึงเดือนมิถุนายนในปีเดียวกัน สาเหตุเกิดจากการที่ตัวเลขการผลิตในสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายนที่มีการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบสี่เดือน แม้ว่าเศรษฐกิจยังดูเหมือนจะค่อยๆฟื้นตัวอย่างช้าๆ นอกจากนั้นแนวทางการจำกัดปริมาณการส่งออกยาง จำนวน 300,000 ตันที่ถือเป็นการจำกัดการส่งออกครั้งใหญ่ที่สุดนับตัวแต่ปี 2552 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่สามรายคือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันถึง 70% จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งให้ราคายางในประเทศไทย คือราคายางแผ่นดิบได้ปรับตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 90 บาทต่อ กก. แล้ว จากการคาดการณ์พบว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคายางพาราในประเทศไทย อาจเพิ่มขึ้นแตะระดับ 100 ต่อ กก. ในช่วงปลายปี
โดยสรุปแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นภายหลังการปรับเปลี่ยนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์ยางพารา ขณะเดียวกันการถดถอยของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเริ่มเข้าสู่การชะลออันเป็นผลมาจากการใช้นโยบายการคลังของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นก็จะส่งผลต่อความต้องการใช้ยางพาราและผลิตภัณฑ์มากขึ้น อย่างไรก็ตามนโยบายจำกัดการส่งออกยางพาราของผู้ผลิตรายใหญ่อาทิ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียอาจส่งผลต่อการปรับตัวของราคายางให้เพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้นแต่จะไม่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคายางพาราอย่างมากเหมือนในอดีต เนื่องจากปริมาณความต้องการและปริมาณการผลิตยางในตลาดโลกยังไม่แตกต่างกันมากจนทำให้เกิดการขาดแคลนและไปส่งผลต่อราคาให้มีความผันผวนมากเท่าที่ควร