กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โชว์ผลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอชุมชน ดึงแนวคิดวิถีชีวิตสร้างสรรค์สินค้าและยกระดับคุณภาพผลักดันสู่อุตสาหกรรมสิ่งทอเชิงวัฒนธรรม พร้อมส่งเสริม SMEs ใช้เทคโนโลยีสะอาดร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมขอการรับรองฉลากเขียว
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนิน โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างครบวงจร ต่อเนื่องในปี 2555 นี้ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Industry) ซึ่งได้ดำเนินงาน 3 กิจกรรม คือ
กิจกรรมที่หนึ่ง การออกแบบสิ่งทอตั้งแต่เส้นใย ผ้าผืนจนถึงเครื่องนุ่งห่ม เช่น การสร้างนักออกแบบรุ่นใหม่โดยมีเวทีประกวด Fashion Image Campus 2012 ได้ผู้ชนะเลิศส่งไปแข่งขันต่อในเวทีสากลของประเทศอังกฤษในปลายปีนี้ และมีกิจกรรม Open House พร้อมจัดทำหนังสือความรู้เรื่องผ้าทอและผ้าถัก และ จัดหาหนังสือแนวโน้มแฟชั่น นิตยสาร สื่อมัลติมีเดีย ตัวอย่างวัสดุสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มผ้าไทยมากกว่า 100 รายการ ผ่านระบบสืบค้นที่ทันสมัย ขยายโอกาสการเข้าถึงของบุคลากรในอุตสาหกรรมให้รวดเร็วและทันเหตุการณ์
กิจกรรมที่สอง การใช้เทคโนโลยีสะอาด (Cleaner Technology) สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอขนาดกลาง ขนาดเล็ก (SMEs) ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมเพื่อขอรับรองฉลากเขียว (Green Label) โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 9 โรงงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการขอรับรองฉลากเขียวแล้ว 2 โรงงาน เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าปูที่นอน Tensilk และผ้าผืนฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์
กิจกรรมที่สาม การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอชุมชนสู่อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ผสมผสานกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม สร้างมูลค่าเพิ่มยกระดับคุณภาพสินค้าสิ่งทอให้มีความหลากหลาย ซึ่งได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบกว่า 40 รายการใหม่ ประกอบไปด้วย
3.1 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดเครื่องนอนผ้าไหมไทยไร้รอยต่อด้วยกี่กระตุกหน้ากว้าง 110 นิ้ว หรือ 3 เมตร ด้วยการออกแบบโครงสร้างกี่ทอผ้าเพื่อรองรับการทอผ้าหน้ากว้างโดยใช้คนทอคนเดียวได้อย่างเหมาะสม ดำเนินการติดตั้งที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาบัว ต.นาบัว อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี โดยทอผ้าไหมหน้ากว้างไร้รอยต่อจำนวน 50 เมตร ซึ่งได้นำไปวิเคราะห์ทดสอบเทียบเท่ามาตรฐาน มผช. และนำมาตัดเย็บเป็นผ้าปูที่นอน ผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้โครงการ : ผลิตภัณฑ์ชุดผ้าปูที่นอนผ้าไหมทอมือหน้ากว้าง 110 นิ้ว ซึ่งถือว่ากว้างที่สุดในขณะนี้
3.2 การพัฒนาคุณภาพผ้าไหมไทยทอมือลายพื้นเมือง ด้วยอุปกรณ์ม้วนเส้นไหมยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ จากปัญหาที่พบคือ เส้นด้ายยืนตึงหย่อน เส้นหนา เส้นบาง เส้นยืนขาด ส่งผลต่อคุณภาพผ้าไหมไทย เมื่อนำอุปกรณ์ต้นแบบไปทดลองใช้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าไหม 5 กลุ่มที่มีลวดลายต่างกัน พบว่าสามารถทอผ้าไหมได้คุณภาพสวยงามและดีกว่า อีกทั้งยังช่วยลดเวลาการทำงาน ลดแรงงาน ใช้พื้นที่น้อย โดยได้นำมาตัดเย็บและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้โครงการ : ชุดสตรี เสื้อซาฟารี กระเป๋า และผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ
3.3 การประยุกต์พลาสมาบนสิ่งทอเพื่อความคงทนในการติดสีจากการย้อมด้วยสีธรรมชาติ (ฮ่อม) ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยอาบพลาสมาบน เส้นด้ายฝ้ายปั่นมือ จากนั้นนำไปทอเป็นผืนผ้าแล้วจึงย้อมตามกระบวนการเดิมของชาวบ้าน พบว่า สามารถประหยัดเวลา ประหยัดสีย้อม ลดต้นทุน ลดการใช้วัตถุดิบและมีความคงทนสีต่อการซักที่ดีขึ้น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้โครงการ : เสื้อและกางเกง ผ้าพันคอ กระเป๋าถือสตรี กระเป๋าสตางค์ และผ้าผืนต่าง ๆ
3.4 การพัฒนาลวดลายผลิตภัณฑ์ต้นแบบผ้ามัดย้อมด้วยการย้อมจากสีธรรมชาติ ดำเนินการพัฒนาผ้ามัดย้อมด้วยการย้อมสีธรรมชาติ จำนวน 5 เฉดสี ประกอบไปด้วย สีแดงจากครั่ง สีน้ำเงินจากคราม สีเขียวจากใบหูกวาง สีแสดจากเมล็ดคำแสด และสีเทาจากผลมะเกลือ พร้อมทดสอบความคงทนต่อสีและคงทนต่อเหงื่อ พัฒนาลวดลายต้นแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด 6 รูปแบบ ประกอบไปด้วย ดอกไม้ไทย อัญมณีไทย ว่าวไทย ขนมไทย ผักผลไม้ไทย และอาหารไทย นำไปออกแบบและตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้โครงการ : กระเป๋า ผ้าพันคอ
3.5 การพัฒนาเส้นด้ายและผลิตภัณฑ์จากเส้นใยบัวหลวงในเชิงอุตสาหกรรม ดำเนินการนำก้านบัวสดที่ถูกตัดทิ้ง ซึ่งเป็นวัตถุดิบเหลือใช้ มาพัฒนาโดยเน้นใช้กระบวนการทางธรรมชาติเพื่อผลิตเส้นใยและเข้าสู่กระบวนการผลิตผ้าผืนในเชิงอุตสาหกรรม โดยผลจากการวิจัยพบว่า เส้นใยที่ได้จะมีความละเอียดและผิวสัมผัสที่ดี เกิดเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีเอกลักษณ์จากธรรมชาติ สร้างทางเลือกสำหรับผลิตภัณฑ์ด้าน Eco Textiles ผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้โครงการ : เสื้อสูท ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ หมวกสตรี
3.6 การพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากผ้าไหมเพื่อการป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ดำเนินการนำวัสดุที่เป็นโลหะมาเป็นส่วนประกอบในเสื้อผ้าเพื่อลดทอนความเข้มข้นของแม่เหล็กไฟฟ้า โดยผสานคุณค่าของผ้าไหมร่วมกับเส้นใยโลหะเงิน แล้วนำมาทอร่วมกัน พัฒนาออกแบบและตัดเย็บเป็น ผลิตภัณฑ์ต้นแบบภายใต้โครงการคือ ชุดเสื้อผ้าชายและหญิง
หากผู้ประกอบการหรือหน่วยงานใดสนใจข้อมูลเพื่อเป็นองค์ความรู้หรือนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทรศัพท์ 0 2713 5492
ติดต่อ:
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 - 9 www.thaitextile.org facebook: Thailand textile Institute