กรมทรัพยากรน้ำบาดาลโชว์ผลศึกษา RBF พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ชายฝั่งแม่น้ำสายหลัก พร้อมรับปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

ข่าวทั่วไป Thursday October 11, 2012 10:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลคาดว่าใน พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะมีแนวโน้มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในทุกภาคส่วนจึงได้ทำการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย บริเวณพื้นที่ชายฝั่งแม่น้ำสายหลัก (Riverbank Filtration) หรือ ระบบ RBF เพื่อเตรียมพร้อมรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต นายสัมฤทธิ์ ชุษณะทัศน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ประเทศไทย มีแนวโน้มจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตรเนื่องจากการระบายของเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมืองและแหล่งชุมชนใหญ่ ลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้การปนเปื้อนในแหล่งน้ำผิวดินมีมากขึ้น จากผลการศึกษาของสำนักงาน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2547) ได้ประเมินปริมาณและสัดส่วนความต้องการใช้น้ำ ของประเทศในกิจกรรมต่างๆ โดยพิจารณาความต้องการใช้น้ำโดยใช้ปี พ.ศ. 2544 เป็นฐานคำนวณพบว่า ความต้องการใช้น้ำในการบริโภคอุปโภค และกิจกรรมด้านต่างๆ รวมประมาณ 55,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี ขณะที่ผลการประเมินความต้องการใช้น้ำในอนาคตถึงปี พ.ศ. 2564 พบว่า ความต้องการใช้น้ำรวมจะมีค่าประมาณ 124,600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะที่ปัจจุบันการพัฒนาแหล่งน้ำในรูปแบบต่างๆ ทั้งโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลางประมาณ 650 แห่ง และโครงการขนาดเล็กประมาณ 60,000 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ประมาณ 70,800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 30 ของปริมาณน้ำเฉลี่ยทั้งปี ขณะที่ปัญหาและอุปสรรคของการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดิน ในอนาคตมีมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีแนวทางหรือวิธีการพัฒนาแหล่งน้ำที่เหมาะสม ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาความขาดแคลนน้ำอีกประมาณ 53,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในปี พ.ศ. 2564 และการประปาส่วนภูมิภาคได้ประเมินความต้องการน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภค ในปี พ.ศ. 2564 ว่าอาจสูงถึง 3,442 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขณะที่ปัจจุบันผลิตได้เพียง 1,144 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ปัญหาด้านคุณภาพน้ำอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตน้ำประปาเมื่อใช้แหล่งน้ำผิวดินที่ปนเปื้อนเป็นแหล่งน้ำดิบ แสดงให้เห็นว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี กรมทรัพยากรน้ำบาดาลตระหนักถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงจัดทำโครงการศึกษาการพัฒนา แหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย บริเวณพื้นที่ชายฝั่งแม่น้ำสายหลักของประเทศ เรียกว่า “Riverbank Filtration” (RBF) ซึ่งเป็นระบบสูบน้ำผสมผสานระหว่างน้ำบาดาลที่กักเก็บตะกอนหินร่วน น้ำพาและน้ำในแม่น้ำที่ซึมผ่านชั้นกรวดทรายสู่ชั้นน้ำบาดาลตามชายฝั่งแม่น้ำ ทำให้น้ำผ่านการกรองและมีการปรับคุณภาพโดยธรรมชาติจึงได้น้ำที่มีคุณภาพดี และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปา จากการศึกษาโครงการพบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมในการพัฒนาระบบ RBF จำนวน 12 พื้นที่ ได้แก่ 1. อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 2. อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 3. จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน 4. อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง 5. อำเภอเมือง และอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ 6. อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 7. อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 8. อำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ 9. จังหวัดชัยนาท และจังหวัดอุทัยธานี 10. อำเภอ ศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย 11. อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ 12. อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และมีการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทำการศึกษาเป็นโครงการนำร่องในระยะแรก ได้แก่ พื้นที่เชียงราย พื้นที่ชัยนาท-อุทัยธานี พื้นที่กำแพงเพชร และพื้นที่เชียงใหม่-ลำพูน ตามลำดับ โครงการฯ นี้มีแผนพัฒนาต่อเนื่องรวม 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การสร้างโครงการนำร่อง โดยสำรวจ วิจัย และถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาระบบ RBF พร้อมจัดทำแผนหลักใน 4 พื้นที่ ที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ กำแพงเพชร และอุทัยธานี เพื่อนำมาสร้างโครงการนำร่อง 2 พื้นที่ ระยะที่ 2 ผลักดันให้เกิดระบบ RBF ไปใช้ในหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการจัดหาน้ำเพื่อประชาชนในพื้นที่ ที่มีศักยภาพปานกลาง 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดลำปาง พิจิตร แพร่ นครสวรรค์ และสุราษฎร์ธานี และระยะที่ 3 การติดตาม ประเมินผลระบบนำร่อง ระบบ RBF และสำรวจพื้นที่ศักยภาพเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีความต้องการ ใช้น้ำสูง โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการพัฒนาระบบ RBF คือ ผู้ใช้น้ำในพื้นที่จะได้รับบริการน้ำประปาที่มีคุณภาพสูง เพียงพอ และทั่วถึง อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนในการผลิตน้ำเมื่อเทียบกับการผลิตน้ำประปา โดยใช้น้ำผิวดินเป็นแหล่งน้ำดิบ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อไปว่า หากมีการดำเนินการโครงการต่อเนื่องครบ ทั้ง 3 ระยะ โดยประเมินผลการพัฒนาระบบ RBF ที่มีขนาดการผลิตเท่ากับ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง จะสามารถผลิตน้ำได้ 224,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีประชาชนได้รับผลประโยชน์กว่า 448,000 ครัวเรือน สามารถประหยัดค่าก่อสร้างระบบและค่าเดินระบบได้ประมาณ 1,330 ล้านบาท และถ้าพื้นที่ที่อยู่ในแผนโครงการนำร่องมีการผลิตน้ำประปาจากแหล่งน้ำบาดาลที่พัฒนาด้วยระบบ RBF แทนระบบเดิมที่มีทั้งหมด จะสามารถประหยัดค่าเดินระบบได้ประมาณปีละ 450 ล้านบาท สำหรับผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการได้ที่ http://www.dgr.go.th/newproject/54/Riverbank_filtration/template/index.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ