สคร. มอบ “รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น” ผล……รัฐวิสาหกิจกวาดรางวัลถ้วนหน้า โดยปีนี้เพิ่มรางวัลใหม่ 2 ประเภท

ข่าวทั่วไป Thursday October 11, 2012 11:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง สคร. มอบ “รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น” ผล……รัฐวิสาหกิจกวาดรางวัลถ้วนหน้า โดยปีนี้เพิ่มรางวัลใหม่ 2 ประเภท เชื่อว่ารัฐวิสาหกิจจะเข้มแข็งและสามารถเตรียมความพร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ประกาศผลรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นปี ๒๕๕๕ “Toward… The New Frontier” พลังรัฐวิสาหกิจไทย ข้ามขอบฟ้าใหม่ สร้างไทยยั่งยืน ซึ่งหมายถึง การสร้างความเข้มแข็งและการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศ ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) โดยปีนี้มีการตัดสินมอบรางวัลทั้งสิ้น ๘ รางวัล นายประสงค์ พูนธเนศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เปิดเผยว่า สคร. ได้จัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2555 ปีนี้เป็นปีที่ ๘ นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และประกาศให้สาธารณชนได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่ดีเด่นในด้านต่างๆ สร้างบรรทัดฐานที่ดีในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ และเป็นการสร้างแรงจูงใจในการผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยในการจัดงานครั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ นายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี มอบรางวัล ซึ่งการมอบรางวัลจัดขึ้น ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก วิภาวดี รางวัลดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจไทย ที่ได้รับการยอมรับทั้งในด้านผลการดำเนินงาน การสนองบทบาทตามพันธกิจของรัฐวิสาหกิจ และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และยังแสดงให้เห็นว่ารัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กร ทั้งในด้านการให้บริการประชาชนและ ด้านเศรษฐกิจการเงินเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สคร.จึงได้กำหนดรูปแบบภายใต้แนวคิด “Toward…The New Frontier” พลังรัฐวิสาหกิจไทย ข้ามขอบฟ้าใหม่ สร้างไทยยั่งยืน เพื่อช่วยผลักดันให้รัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีการมุ่งสร้างความเข้มแข็งและการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างรัฐวิสาหกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ คือ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) นายประสงค์ ชี้แจงว่า “การกำหนดประเภทรางวัลได้คำนึงถึงการพัฒนารัฐวิสาหกิจในแต่ละด้าน โดยมิได้มุ่งเน้นเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่และมีกำไรเท่านั้น แต่รวมถึงองค์ประกอบของการบริหารจัดการในรัฐวิสาหกิจที่จะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทุกด้าน และในการคัดเลือกรัฐวิสาหกิจเพื่อเข้ารับรางวัลรัฐวิสาหกิจ ดีเด่นนั้น กระทรวงการคลังได้แต่งตั้งคณะกรรมการตัดสินรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี ๒๕๕๕ ขึ้น ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อให้การคัดเลือกรัฐวิสาหกิจที่สมควรได้รับรางวัล มีความโปร่งใส มีมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสาธารณชน ทั้งนี้ ในการตัดสินรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปีนี้ สคร. ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” โดยรายนามของ คณะกรรมการตัดสินรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี ๒๕๕๕ มีดังต่อไปนี้ - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ - นายพนัส สิมะเสถียร เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ - นายโกวิทย์ โปษยานนท์ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ - ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ - รองปลัดกระทรวงการคลัง รองประธานกรรมการ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สิน - ผู้อำนวยการสำนักงาน กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ - นายไชยยศ บุญญากิจ กรรมการ - นายเทียนฉาย กีระนันทน์ กรรมการ - นายปรัชญา เวสารัชช์ กรรมการ - นายยุทธ วรฉัตรธาร กรรมการ - นายวรภัทร โตธนะเกษม กรรมการ - นายสมชัย ฤชุพันธุ์ กรรมการ - นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล กรรมการ - รองผู้อำนวยการสำนักงาน กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ - ผู้อำนวยการสำนักกำกับ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และประเมินผลรัฐวิสาหกิจ “รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นในปีนี้ ได้กำหนดให้มีประเภทรางวัลทั้งสิ้น ๘ ประเภท นอกจากนี้ยังได้เพิ่มประเภทรางวัลย่อยในประเภทรางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่น ๒ ประเภท ได้แก่ การบริหารจัดการสารสนเทศ และการบริหารทรัพยากรบุคคล ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายประสงค์ กล่าวเพิ่มเติม สำหรับผลรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี ๒๕๕๓ มีทั้งสิ้น ๘ ประเภทรางวัล ดังนี้ ๑. รางวัลรัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยมประจำปี ๒๕๕๕ (จำนวน ๒ รางวัล) - กลุ่มสาธารณูปโภคสาธารณูปการ? บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) - กลุ่มสถาบันการเงิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร - กลุ่มอื่นๆ - ๒. รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น (จำนวน ๒ รางวัล) รางวัลเกียรติยศ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) การประปานครหลวง ๓. รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (จำนวน ๔ รางวัล) รางวัลเกียรติยศ การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รางวัลดีเด่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ๔. รางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่น (จำนวน ๕ รางวัล) - รางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่นในภาพรวม การท่าเรือแห่งประเทศไทย - รางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่น ด้านบริหารจัดการสารสนเทศ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) - รางวัลพัฒนาองค์กรดีเด่น ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ๕. รางวัลการเปิดเผยข้อมูลดีเด่น (จำนวน ๑ รางวัล) การประปานครหลวง ๖. รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น (จำนวน ๒ รางวัล) การไฟฟ้านครหลวง (โครงการคืนโลกสดใสลดใช้พลังงาน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (โครงการกรุงไทยยุววาณิช) ๗. รางวัลนวัตกรรมดีเด่น (จำนวน ๖ รางวัล) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT Electromagnetic Induction for Wax Mitigation) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (เครื่องมือเพิ่มแถวลูกถ้วย) ชมเชย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินสำเร็จรูป (Precast Duct Bank)) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (โครงการสายอากาศ VHF (ย่านความถี่ ๑๓๒.๐๕ MHz) เพื่อการติดต่อสื่อสารในการบินทดสอบปรับแต่งระบบ/อุปกรณ์เครื่องช่วยการเดินอากาศ) บริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (ระบบวิเคราะห์ทราฟฟิค ของบริการทางเสียง ๒ (Voice Traffic Analysis II)) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเหตุขโมยลักตัดสายเคเบิลโทรศัพท์) ๘. รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่น (จำนวน ๒ รางวัล) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร: นายลักษณ์ วจนานวัช ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) : นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ภายหลังการจัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี ๒๕๕๕ นั้น นายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานในพิธีมอบรางวัล ได้มอบนโยบายว่า “รัฐบาล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจ รัฐบาล ได้แถลงนโยบายไว้อย่างชัดเจน ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพการให้บริการ และการบริหารทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาฐานะทางการเงิน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนดีขึ้น และได้มีส่วนสนับสนุนให้การดำเนินงานของรัฐบาลประสบความสำเร็จลุล่วงก่อประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนและประเทศชาติสูงสุด อาทิ การพัฒนาด้านการขนส่ง การพัฒนาด้านโทรคมนาคม และการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้ สำหรับการดำเนินการของกระทรวงการคลังในฐานะตัวแทนรัฐบาลในการดูแลรัฐวิสาหกิจ ได้กำหนดมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยรัฐวิสาหกิจในการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรเรื่อยมา เพื่อสนับสนุนรัฐวิสาหกิจ ให้สามารถปฏิบัติตามภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนดแนวนโยบายของผู้ถือหุ้นภาครัฐ การกำหนดหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ การกำหนดบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม การนำระบบประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ และการสร้างระบบบัญชีรายชื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ภารกิจการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ มีความซับซ้อนมากกว่าเอกชน เนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่ใช่มุ่งเพียงดำเนินการให้ได้มาซึ่งผลกำไรและสามารถเลี้ยงตัวเองเท่านั้น หากแต่ความคาดหวังต่อรัฐวิสาหกิจ ยังรวมไปถึง การเป็นเครื่องมือของภาครัฐในการตอบสนองความต้องการของประชาชน และต้องสร้างการยอมรับจากสังคม ในด้านประสิทธิภาพในทุกส่วน ความโปร่งใส และธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน และผลสำเร็จในการจัดงาน มอบรางวัลในครั้งนี้ ก็คือการทำให้ประชาชนได้ร่วมรู้สึกดีใจกับรางวัลนี้ด้วยและพร้อมที่จะให้การสนับสนุน การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในฐานะเจ้าของรัฐวิสาหกิจที่แท้จริง” นายกิติรัตน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ