กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--โครงการละครพัฒนาสุขฯ
นายพฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) หัวหน้าโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า หลังจากสร้างเยาวชนให้เข้าใจเครื่องมือการเรียนรู้ที่ชื่อทักษะละครชุมชนแล้ว ในช่วงไตรมาศสุดท้ายของปี 55 นี้ กิจกรรมจะเน้นหลัก 2 ส่วนคือ 1.การพัฒนาครือข่ายผู้นำกิจกรรมในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้เป็นแกนหลักขับเคลื่อนงาน เทียบเท่ากลุ่มมะขามป้อมในด้านการทำงานร่วมกับเยาวชน ท้องถิ่น การเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในชุมชน อาทิ เครือข่ายกลุ่มกิ่งก้านใบ ที่ จ.อุตรดิตถ์ กลุ่มมานีมานะ ที่ จ.สงขลา กลุ่มมะขามป้อม เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยที่ผ่านมากลุ่มเหล่านี้ได้ใช้ต้นทุนที่มีอยู่เดิมทั้งองค์ความรู้ความถนัด จำนวนสมาชิก ร่วมออกแบบกิจกรรมของตัวเองให้สอดคล้องกับบริบทชุมชน และสถานการณ์ปัจจุบัน 2.การขยายขอบเขตผู้ร่วมกิจกรรมจากนักเรียนเพิ่มมาที่ครู เพื่อให้มีประสบการณ์การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ อันเป็นการเปลี่ยนทัศนคติ และหาจุดร่วมระหว่างผู้สอนและผู้เรียนให้ชัดมากยิ่งขึ้น
นายพฤหัส กล่าวว่า มะขามป้อมและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ยังเร่งผลักดันแนวคิดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านกิจกรรมละครฯ เพราะในโลกที่หมุนเร็วและมากด้วยข้อมูล การเติบโตของเยาวชนต้องมีทักษะในการคิด ตัดสินใจ และสร้างสรรค์สิ่งที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง ดังนั้นนอกจากการตั้งโจทย์คำถามเพื่อให้เยาวชนค้นหากระบวนการไปสู่คำตอบแล้ว ผู้สอนเองต้องลดบทบาทด้านเป็นผู้ออกคำสั่ง และแปรเปลี่ยนเป็นเพียงโค้ชหรือผู้กระตุ้นให้เกิดการใช้เหตุผลตัดสินใจเท่านั้น
ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาโครงการฯได้จัดกิจกรรมเพื่อให้ความสำคัญกับเครือข่ายท้องถิ่นและร่วมพัฒนาครูตามวัตถุประสงค์ข้างต้น โดยในเร็วๆ นี้จะมีกิจกรรมใหญ่อีกหลายงาน อาทิ มหกรรม Asian Circus Festival ในวันที่ 14 ต.ค.นี้ ที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนทักษะด้านละครเพื่อการเรียนรู้กับนานาชาติ งานสัมมนาวิชาการด้านละครกับการทำงานเยาวชนในวันที่ 25 ต.ค.ที่ลานสานฝันทีเค พาร์ค ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงกิจกรรมการอบรมครูที่มีอยู่ต่อเนื่องในแต่ละภูมิภาค