รองผู้ว่าฯ วัลลภ เร่งรัดกำหนดเทคโนโลยีสารสนเทศสู่กระบวนการเรียนการสอน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 8, 2004 15:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ย.--กทม.
เมื่อวานนี้ (7 ก.ย.47) เวลา 14.30 น. นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุ กรุงเทพมหานคร คลื่น AM 873 เกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ว่า การที่กรุงเทพมหานครต้องดูแลโรงเรียนในสังกัดทั้ง 433 โรงเรียน ซึ่งก็มีนักเรียนรวมกว่า 100,000 คน ทุกคนควรที่จะมีความรู้อย่างสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ก้าวทันสถานการณ์โลก การค้า เศรษฐกิจ และสามารถที่จะต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองได้ ดังนั้นต้องเริ่มตั้งแต่การเรียนขั้นพื้นฐานเพื่อให้นักเรียนของกทม.มีความรู้ ความสามารถเหมาะสมกับเป็นประชาชนกทม.และเป็นทรัพยากรของโลก
ซึ่งต้องมีความรู้ครอบคลุมทั้งในท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ รวมถึงรู้สถานการณ์ของโลกด้วย จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กำหนดไว้จึงต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหลายโรงเรียนที่อยู่ในระดับดีและ บางโรงเรียนต้องรีบดำเนินการแก้ไข สำหรับกระบวนการในการจัดการศึกษาที่ได้วางไว้ก็คือ เร่งรัดกำหนดด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สู่กระบวนการ เรียนการสอน และการบริการทุกสถานศึกษา พัฒนาให้เด็กมีความทันสมัย รู้จักคิดวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ของโลกได้ทัน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า สังคมของโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น การศึกษาของกรุงเทพมหานคร ไม่ควรที่จะมองแค่ปี 2547หรือ ปี 2548 เท่านั้นควรที่จะมองไปถึง 12 ปีข้างหน้า เพราะเด็กเหล่านี้ วันข้างหน้าจะเป็นความภาคภูมิใจของกรุงเทพมหานคร การนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอนจึงเป็นเรื่องที่ควรดำเนินมากที่สุด แต่ตัวเด็กเองต้องมีความใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
ต้องมีการดูแลคุณภาพการศึกษาในโรงเรียน หากโรงเรียนใดที่ด้อยการพัฒนาควรเร่งจัดสรรคอมพิวเตอร์ ให้มีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษา ทั้งนี้การมีคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวยังไม่พอ
ควรคำนึงถึงกระบวนการเรียนการสอนของอาจารย์ผู้สอน และนักเรียนด้วย โดยอาจารย์ผู้สอนต้องมีความสันทัด มีความสบายใจในการใช้คอมพิวเตอร์ ไม่เน้นการเรียนการสอน ที่อยู่เพียงแต่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมอยู่กับกระดานดำ ต้องมีมากกว่านั้น กทม. ควรจัดคอมพิวเตอร์ให้ครูอาจารย์ผู้สอน มีแหล่งวิทยากร มีการอบรมให้ความรู้กับครูอาจารย์อย่างต่อเนื่อง และควรจะมีการสร้างครูต้นแบบให้เกิดขึ้นในโรงเรียน ครูต้นแบบ ก็คือ ครูที่มีความรู้ ความสามารถในเรื่องนั้นๆอย่างโดดเด่น เพื่อเป็นหลักในการให้ความรู้ แก่นักเรียน และควรมีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนให้นักเรียนได้เรียนภาษาต่างประเทศอย่างได้ผลด้วย
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ควรมีการพัฒนาเด็กในกรุงเทพมหานครให้เป็นเด็กของเมือง คือ ต้องเรียนรู้ มีความเข้าใจ ในเรื่องที่จะเกิดขึ้นของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ขยะ สิ่งแวดล้อม แม้กระทั่งเรื่องการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2547 ต้องสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ส่วนกรณีที่เด็กต้องการเรียนแต่ครอบครัวไม่สามารถที่จะส่งให้เรียนได้ นั้น กทม.ต้องเข้าไปช่วยเหลือ โดยจะต้องมีการสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนเพื่อสำรวจฐานะทางครอบครัว และเป็นเครื่องมือช่วยในการบริหารการศึกษาอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้การให้การศึกษาของกรุงเทพมหานครต้องมีการมองนอกรั้วโรงเรียนด้วย โดยพัฒนาควบคู่กันไปทั้งในและนอกระบบ โรงเรียนและสถานศึกษาของกรุงเทพมหานครต้องเอื้อมมือ ต้องเปิดประตูให้ผู้ที่อยู่นอกวัยเรียนได้เรียนรู้ ทำให้แหล่งการเรียนรู้เข้าใกล้ประชาชนมากที่สุด เช่นการทำห้องสมุดของโรงเรียน ชุมชน ให้มีชีวิตชีวา กระตุ้นให้นักเรียนและประชาชนสนใจเข้ามาแสวงหาความรู้ ไม่ใช่เป็นเพียงตู้หนังสือที่ตั้งอยู่กับที่ไม่เกิดประโยชน์ รวมทั้งกรุงเทพมหานครควรมีการสนับสนุนให้มีโรงเรียนเกี่ยวกับการกีฬา รวมทั้งสนับสนุนให้มีลานกีฬาเกิดขึ้นในกทม.ให้มากที่สุด เพื่อให้เยาวชนห่างไกลจากยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ โดยจัดให้มีการแข่งขันกีฬาอย่างสม่ำเสมอ และให้มีการสร้างลานแสดงความสามารถขึ้นในชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความสามารถที่มีอยู่--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ