กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--บีโอไอ
กระทรวงอุตสาหกรรมเผยยอดการลงทุน 11 เดือนของปีงบประมาณ 2547 มียื่นขอรับส่งเสริมกว่าพันโครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงถึง 415,425 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 400,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคมากที่สุดถึง 138,776 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง ในขณะที่มูลค่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศสูงถึง 187,561 ล้านบาท
นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนของประเทศซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอได้รายงาน ว่า ขณะนี้ ยอดส่งเสริมการลงทุนในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2547 (ต.ค. 46 — ส.ค. 47) ได้ทะลุเป้าหมายที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งไว้ 400,000 ล้านบาทแล้ว โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสุทธิ 1,144 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 415,425 ล้านบาท
“ เดิมทีบีโอไอได้ตั้งเป้าส่งเสริมการลงทุนในปีงบประมาณนี้ที่ 290,000 ล้านบาท แต่พอผ่านมาสักระยะผมเห็นว่าน่าจะมีการลงทุนเข้ามามากกว่า 290,000 ล้านบาท ผมจึงปรับเป้าหมายใหม่ของการส่งเสริมการลงทุนเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเป็น 400,000 ล้านบาท ซึ่งเราทำได้เกินเป้าหมายตั้งแต่ช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2547 (ต.ค.46-ก.ค.47) แล้ว โดยมีมูลค่าเงินลงทุนที่ขอรับส่งเสริม 400,073 ล้านบาท แต่วันนี้เราทำได้มากยิ่งขึ้น “ นายพินิจกล่าว
ทั้งนี้ การที่บีโอไอใช้ตัวเลขตามปีงบประมาณ เพราะรัฐบาลกำหนดให้หน่วยราชการต้องจัดทำผลการปฏิบัติงานเทียบกับงบประมาณที่ใช้ไป เพื่อประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน โดยเริ่มจัดทำเมื่อปีงบประมาณ 2547 จึงทำให้บีโอไอกำหนดตัวชี้วัดเป้าหมายตามปีงบประมาณ และแสดงผลการปฏิบัติงานเปรียบเทียบกับเป้าหมายในกรอบเวลาเดียวกัน
สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค 213 โครงการ 138,776 ล้านบาท ซึ่งมีกิจการหลากหลาย เช่น โรงพยาบาล นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์กระจายสินค้า ศูนย์จัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนระหว่างประเทศ ศูนย์วิจัยพัฒนา และที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย แต่กิจการที่ขอรับส่งเสริมมากที่สุดในกลุ่มนี้คือ กิจการขนส่ง ซึ่งมีคำขอรับส่งเสริมมากถึง 107,486 ล้านบาท ประกอบไปด้วย กิจการขนส่งทางอากาศ กิจการขนส่งทางทะเล และกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ
“ การที่อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคขยายตัวมากที่สุดถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการยืนยันว่า เศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศขยายตัวอย่างแท้จริง ทำให้ต้องขยายการลงทุนด้านสาธารณูปโภค บริการพื้นฐาน และขนส่ง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าว
รองลงมาคือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 189 โครงการ 84,501 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันมาตรการส่งเสริมการลงทุน HDD ซอฟต์แวร์ และเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ขยายฐานการผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นักลงทุนขอรับส่งเสริมมากเช่นกัน คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และพลาสติก 149 โครงการ 72,587 ล้านบาท
สำหรับมาตรการในการส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอีของบีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอีให้ได้ 100 ราย แต่มีการขอรับส่งเสริมมากถึง 189 ราย คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 12,684 ล้านบาท ซึ่งกว่าครึ่งเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และก็มีกิจการเอสเอ็มอีที่เกี่ยวกับการออกแบบ แฟชั่น
นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุน STI ก็ถือว่าใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 80 โครงการ ขณะนี้มีขอรับส่งเสริมมา 79 โครงการ คิดเป็นเงิน 48,701 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุน STI ในด้าน อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ ชิ้นส่วนยานยนต์ และกิจการวิจัยและพัฒนา
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ ของปีงบประมาณ 2547 เดือนตุลาคม 46 — สิงหาคม 47 มีจำนวนโครงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ 680 โครงการ ซึ่งสูงกว่าจำนวนโครงการในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2546 (ต.ค. 45 — ส.ค. 46) ที่มีจำนวน 567 โครงการส่วนมูลค่าเงินลงทุนของโครงการจากต่างประเทศในช่วงนี้ มีมูลค่า 187,561 ล้านบาท
ประเทศที่ลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่ง คือประเทศญี่ปุ่น จำนวน 311 โครงการ คิดเป็นเงิน 79,916 ล้านบาท รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา 38 โครงการ 31,719 ล้านบาท อันดับ 3 คือ สิงคโปร์ 76 โครงการ 17,813 ล้านบาท อันดับ 4 มาเลเซีย 40 โครงการ 11,086 ล้านบาท--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--