กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
พอล โอเทลลินี ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวในงานอินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัมที่จัดขึ้นที่ ซาน ฟรานซิสโกว่า นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีซิลิคอนเป็นตัวบ่งบอกถึงทิศทางที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะก้าวต่อไป และจะนำประโยชน์การใช้งานใหม่ๆ มาสู่ผู้ผลิตและผู้บริโภค งานประชุมดังกล่าวมีวิศวกร นักพัฒนา และ นักออกแบบ รวมทั้งบริษัทชั้นนำในวงการเทคโนโลยีเข้าร่วมฟังอย่างคับคั่งเกือบ 5,000 คน มร. โอเทลลินี ยังกล่าวถึงภาพกว้างๆ ของเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในวงการตั้งแต่โปรเซสเซอร์แบบมัลติคอร์ไปจนกระทั่งถึงนวัตกรรมด้านแพลตฟอร์มที่จะช่วยผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต
“เราได้เห็นการรวมกันของเทคโนโลยีต่างๆ บ้างแล้ว” มร. โอเทลลินี กล่าว “สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะการที่ภาคอุตสาหกรรมมีการกำหนดมาตรฐานขึ้นมา รวมทั้งมีการผลิตซิลิคอนได้เป็นจำนวนมาก ทำให้พวกเราในอุตสาหกรรมสามารถใช้เทคโนโลยีได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม การที่ อุตสาหกรรมด้านการสื่อสารและความบันเทิงมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์การใช้งานเทคโนโลยีดิจิตอลนี้ในรูปแบบใหม่ๆ บริษัทต่างๆ หรือนักพัฒนาทั้งหลายต่างก็สามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้พัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมหาศาล”
การนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้อย่างแพร่หลายในหลายๆ อุตสาหกรรมเช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่การประมวลผลนอกจากจะต้องมีความเร็วเพิ่มมากขึ้นแล้ว ก็ยังจะต้องมีความสามารถใหม่ๆ ให้นำไปใช้งานได้ในรูปแบบต่างๆ ที่จะตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ใช้ได้ด้วย ในขณะที่ อินเทลยังคงมุ่งมั่นในการปรับปรุงสมรรถนะของโปรเซสเซอร์ บริษัทก็ยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของโปรเซสเซอร์ด้วยเช่นกัน ส่งผลให้เกิดมิติใหม่ในการใช้งานคอมพิวเตอร์โดยผู้ใช้พีซีสามารถสร้างประโยชน์ได้เต็มที่กับความสามารถในการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ด้านความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือในการประมวลผล ความสามารถในการจัดการและการประมวลผลแบบไร้สาย
สิ่งสำคัญที่อินเทลจะเน้นมากขึ้นคือ การวางตำแหน่งของโปรเซสเซอร์แบบมัลติคอร์ทั่วทั้งสายผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ในอนาคตเทคโนโลยีมัลติคอร์จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานในลักษณะต่างๆ เช่นอินเตอร์เฟซกับผู้ใช้ได้ดีขึ้น มีการป้องกันไวรัสและรักษาความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น สมรรถนะและการทำงานโดยรวมดีขึ้นกว่าเดิม
“ในงานอินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัม เมื่อสามปีที่แล้ว เราได้กล่าวไว้ว่าอินเทลจะนำเสนอเทคโนโลยีพื้นฐานและคุณสมบัติพิเศษในการออกแบบโปรเซสเซอร์ซึ่งจะให้ประโยชน์และ ประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นอย่างมหาศาล” มร. โอเทลลินี กล่าว “เทคโนโลยีไฮเปอร์-เธรดดิ้งและอินเทล? เซนทริโน? โมบายล์ เทคโนโลยีคือผลงานแรกๆ ที่เราใช้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่เราก้าวมาถึง ปัจจุบันขณะที่เราเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ เราก็วางแผนที่จะนำโปรเซสเซอร์แบบมัลติคอร์มาใช้ในสายผลิตภัณฑ์ของเราทั้งหมดไปพร้อมๆ กันด้วย”
เทคโนโลยีไฮเปอร์-เธรดดิ้งของอินเทลคือก้าวแรกที่สำคัญสำหรับการมุ่งไปสู่การประมวลผลแบบมัลติคอร์ ด้วยเทคโนโลยีนี้นักพัฒนาซอฟท์แวร์จะสามารถออกแบบแอพพลิเคชั่นที่สามารถประมวลผลข้อมูลแบบขนานได้ด้วยประสิทธิภาพที่เหนือชั้นกว่า ปัจจุบันจึงมีนักพัฒนาและอุปกรณ์ในการออกแบบจำนวนมากที่นำประโยชน์ของแผนการพัฒนามัลติคอร์ของอินเทลมาใช้อย่างเต็มที่
“เทคโนโลยีมัลติคอร์ของอินเทลไม่ได้เป็นแค่เพียงการนำคอร์มาใส่ไว้ในซิลิคอนชิ้นเดียว” มร. โอเทลลินี กล่าว “เทคโนโลยีมัลติคอร์ช่วยให้นักพัฒนาได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและอุปกรณ์ที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่เพื่อสร้างสรรค์การใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ แก่ผู้ใช้”
ในการประชุมนี้ มร. โอเทลลินี ได้สาธิตการทำงานของซิลิคอนในโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่คือ อินเทล? ไอเทเนียม? โปรเซสเซอร์ ชื่อรหัสว่า Montecito เพื่อให้เห็นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ในอนาคตที่มีการนำเทคโนโลยีมัลติคอร์มาใช้ นอกจากจะมีดีไซน์แบบมัลติคอร์แล้ว โปรเซสเซอร์ Montecito ยังมีทรานซิสเตอร์มากกว่า 1,700 ล้านตัว และหน่วยความจำแคชขนาด 24 เมกะไบต์ Montecito คือหนึ่งในบรรดาโปรเซสเซอร์แบบมัลติคอร์ที่จะมีการพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับตลาดอุปกรณ์ไร้สาย เดสก์ท้อปและเซิร์ฟเวอร์ ที่อินเทลจะมีการพูดถึงในงานอินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัมสัปดาห์นี้
อินเทลยังได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของการออกแบบชิปใหม่ๆ อีกหลายตัวที่มาพร้อมกับประสิทธิภาพใหม่ล่าสุดสำหรับใช้งานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย คุณสมบัติใหม่อย่างหนึ่งที่จะมีการเพิ่มเข้าไปในชุดชิปเซ็ตในอนาคตจะช่วยทำให้ผู้จัดการฝ่ายไอทีสามารถบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทได้ดีขึ้น อินเทลพัฒนา Intel Active Management Technology (IAMT) ขึ้นมาเพื่อจัดการข้อมูลในแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน นับตั้งแต่อุปกรณ์สื่อสารขนาดเล็กที่พกพาไปไหนมาไหนได้ไปจนกระทั่งเซิร์ฟเวอร์ ดังนั้นแทนที่ผู้จัดการฝ่ายไอทีจะสูญเสียงบประมาณถึงร้อยละ 80 ไปในการบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์ เขาก็จะสามารถนำงบประมาณส่วนนั้นมา ลงทุนด้านการพัฒนาและจัดหาโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมให้แก่บริษัทได้มากขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่ม ประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรได้ดีกว่า
คุณสมบัติอย่างอื่นๆ ที่อินเทลวางแผนจะให้เป็นส่วนหนึ่งของประสิทธิภาพการออกแบบชิปรวมถึงเทคโนโลยี virtualization (ชื่อรหัส Vanderpool Technology หรือ VT) ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานหลากหลายได้พร้อมๆ กันและช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อมั่นในการประมวลผลได้อย่างมาก นอกจากนี้ เทคโนโลยีการรักษาความปลอดภัยในอนาคตอย่างเช่น LaGrande Technology (LT) จะช่วยป้องกันพวกแฮกเกอร์จากการเจาะเข้าไปดูข้อมูลของสำนักงานและข้อมูลส่วนบุคคล ในขณะที่เทคโนโลยีมัลติมีเดียที่ทรงพลังแบบใหม่จะช่วยทำหน้าที่ในการลดต้นทุนและให้ประสิทธิภาพแบบใหม่สำหรับบ้านและสำนักงาน
รายละเอียดเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ
อินเทล ดิเวลล็อปเปอร์ ฟอรัม เป็นงานแสดงด้านเทคโนโลยีประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งจัดขึ้นสำหรับนักพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โดยเฉพาะ งานไอดีเอฟ เป็นเวทีที่บริษัทชั้นนำในวงการมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับพีซี เซิร์ฟเวอร์ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร และอุปกรณ์พกพาต่างๆ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานไอดีเอฟ และเทคโนโลยีต่างๆ ของอินเทลได้ที่ http://developer.intel.com
อินเทลเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้นำในการผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ระบบเครือข่าย และอุปกรณ์สื่อสาร ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทอินเทล ได้ที่เว็บไซต์ http://www.intel.com/pressroom
*ชื่อและยี่ห้ออื่นอาจถูกอ้างอิงถึงโดยถือเป็นทรัพย์สินของชื่อยี่ห้อนั้นๆ
Intel, Intel Centrino และ Itanium เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของอินเทล คอร์ปอเรชั่น หรือสำนักงานสาขาทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ขอสงวนสิทธิ์
ติดต่อ:
คุณเพชราภรณ์ เจริญนิพนธ์วานิช คุณกรรภิรมย์ อึ้งภากรณ์
บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
โทรศัพท์: (66 2) 654-0654 โทรศัพท์: (66 2) 627-3501
e-Mail: petch.charoennibhonvanich@intel.com e-Mail: kanpirom.ungpakorn@carlbyoir.com.hk--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--