กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กรมควบคุมโรค
กรมควบคุมโรคนำทีมเยี่ยมจังหวัดเลยดูงานเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคติดต่อสำคัญในพื้นที่ตะเข็บชายแดน
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในโอกาสเยี่ยมติดตามการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อตามแนวชายแดนที่จังหวัดเลยว่ารัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการดูแลสุขภาพของประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดนทั้ง 31 จังหวัด ให้มีสุขภาพที่ดี ปราศจากโรค และหากเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาที่ดี มีคุณภาพ มาตรฐานเท่าเทียมกันทุกคน เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทยในปี 2558 โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการควบคุมป้องกัน กวาดล้างโรค รวมทั้งอาหารและยาที่ไม่ปลอดภัย ตามแนวชายแดนร่วมกันอย่างต่อเนื่องเน้น 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ครอบคลุมมาตรฐานเหมือนพื้นที่ปกติ ให้ประชาชนทั้งคนไทยและต่างด้าวเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนทั้งไทยและต่างประเทศ และการบริหารจัดการ
กรมควบคุมโรคได้รับมอบหมายจากนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ โดยพัฒนาศักยภาพทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) ให้มีศักยภาพความพร้อมและได้จัดทีมจำนวน 17 ทีม ลงพื้นที่ในการรับมือกับสถานการณ์โรคระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น และได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดซึ่งมีพื้นที่ตามแนวชายแดน เตรียมความพร้อมในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ โดยเฉพาะจากการเคลื่อนย้ายของประชากรและการไหลบ่าของแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว พร้อมทั้งพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อชายแดนที่สำคัญ 18 โรค ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไข้หวัดนก ซาร์ส โรคกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกอย่างเฉียบพลัน (AFP) อหิวาตกโรค สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ บาดทะยัก มาลาเรีย ไข้เลือดออก ชิกุนคุณยา ไข้ไทฟอยด์ หัด ปอดบวม เอชไอวี/เอดส์ และวัณโรค และโรคที่เป็นปัญหาในพื้นที่อีก 2 โรค คือ โรคพิษสุนัขบ้า และเลปโตสไปโรซิส
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่าจังหวัดเลยซึ่งเป็นพื้นที่ที่มาเยี่ยมติดตามการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อตามแนวชายแดนในครั้งนี้ เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อตามแนวชายแดนระหว่างประเทศ และถือเป็นพื้นที่ต้นแบบ (Best Practise) ที่มีมาตรการในการป้องกันควบคุมโรคคอตีบที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ในเขต อ.วังสะพุง จ.เลย ที่มีการสอบสวนโรคและสกัดการแพร่ระบาดของโรคที่รวดเร็ว โดยการนำเด็กที่ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยการให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบทำให้สามารถสกัดกั้นการระบาดของโรคคอตีบอย่างได้ผล ไม่พบผู้ป่วยโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น
“ที่สำคัญประชาชนหรือผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ตามแนวชายแดน ต้องรู้จักการป้องกันตนเอง ด้วยการมีสุขนิสัยที่ดีในการป้องกันโรค คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ป้องกันอย่าให้ยุงกัด ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุและเด็ก ควรไปรับการฉีดวัคซีนที่จำเป็น เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีน dT (คอตีบ และ บาดทะยัก หรือ วัคซีน DTP สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี) ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดควรสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงรู้จักสังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง เจ็บในหลอดคอ ปวดศีรษะ นํ้ามูกไหล อ่อนเพลีย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และควรติดตามข่าวสารสถานการณ์โรคในพื้นที่จะช่วยให้ปลอดภัยจากโรคต่างๆได้”อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวแนะนำ
ด้านนายแพทย์วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลยกล่าวว่าทางสาธารณสุขจังหวัดเลยได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น (สคร.6 ขอนแก่น) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย หนองคาย และ บึงกาฬ ในการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญที่อาจจะเป็นปัญหาตามแนวชายแดน โดยเฉพาะโรคคอตีบซึ่งทางกรมควบคุมโรคได้มีการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ร่วมกับทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วสำนักงานสาธารณสุขจ.เลย ทำการสอบสวนโรคพร้อมทั้งให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ และดำเนินงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยการเร่งรัดการให้วัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเด็กและกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ใหญ่ที่คาดว่าจะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบ
นอกจากนี้ยังมีระบบรายงานเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังอาการผู้สัมผัสโรคที่เป็นสมาชิกในบ้านและประชาชนในชุมชนของผู้เสียชีวิตและผู้ป่วย หากพบจะดำเนินการสอบสวนโรค รวมถึงการตัดวงจรการแพร่เชื้อโรคทันที ถึงแม้โรคคอตีบเป็นโรคที่ไม่พบบ่อยในประเทศไทย ก็ต้องมีการติดตามข่าวสารและประสานข้อมูลร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคชายแดนที่เข้มข้นทันต่อสถานการณ์ เพราะจะทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคต่างๆได้อย่างรวดเร็ว จึงมั่นใจว่าขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์โรคได้แล้ว
ดร.นพ.ณรงค์ วงศ์บา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สคร.6 ขอนแก่นมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดรวม 9 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ล่าสุดเมื่อวันที่ 24-25 กันยายน 55 ที่ผ่านมา สคร.6 ขอนแก่นได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือกับ สปป.ลาว ด้านการเฝ้า ระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อสำคัญตามแนวชายแดนลุ่มน้ำโขง ระหว่างจังหวัดหนองคายกับนครหลวงเวียงจันทร์ จังหวัดเลยกับแขวงไชยบุรี และ จังหวัดบึงกาฬกับแขวงบริคำไซ เพื่อร่วมมือกันสกัดกั้นปัญหาสาธารณสุขที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ตอบสนองต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนทั้ง 2 ประเทศปฏิบัติงานร่วมกัน ในกรณีปกติให้มีการรายงานผู้ป่วยตามแบบรายงาน MBDS ( Mekong Basin Disease surveillance) ในกรณีเร่งด่วนให้รายงานข้อมูลถึงกันทันที ทางโทรศัพท์ โทรสาร และ e-mail มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยข้ามแดน มีระบบควบคุมวัณโรคร่วมกัน มีการจัดประชุมเวทีแลกเปลี่ยนวิชาการและติดตามการดำเนินงานร่วมกัน
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ขอนแก่น (สคร.6 ขอนแก่น)