กสทช. จัดสัมมนาเตรียมความพร้อม “ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2015 อาเซียนร่วมใจไทยจะรุกหรือรับ” เลขาธิการอาเซียนชี้ “ไทยถอยไม่ได้”

ข่าวเทคโนโลยี Monday October 15, 2012 10:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กสทช. ในการสัมมนา “ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2015 อาเซียนร่วมใจไทยจะรุกหรือรับ” ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว วานนี้ (11 ต.ค.) เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมร่วมกันในการกำหนดทิศทางของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของไทยก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015 นั้น พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) และประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา “ก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2015 อาเซียนร่วมใจไทยจะรุกหรือรับ” (Competitive Position towards ASEAN 2015) กล่าวว่า “กสทช. ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกอาเซียน และได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่มุ่งพัฒนากิจการโทรคมนาคม ลดช่องว่างการเข้าถึงเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งหวังจากการสัมมนาในครั้งนี้คือการร่วมกันกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งข้อกังวล มุมมอง โอกาส และความท้าทายต่างๆ จากความรู้และประสบการณ์ของเลขาธิการอาเซียนและวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนข้อคิดเห็นที่ได้รับจากผู้ร่วมสัมมนาที่มาจากทุกภาคส่วน จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำกลับไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในการทำงาน สอดคล้องกับแผนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่มีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุน บริการ สินค้าและแรงงานฝีมือในภูมิภาคอาเซียน” ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ผลกระทบและการเตรียมความพร้อมของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมสู่ประชาคมอาเซียน” ว่า ประเทศไทยอยู่ในฐานะของผู้คิดริเริ่มการก่อตั้งประชาคมอาเซียน ตั้งแต่ปี 1967 หรือ พ.ศ. 2510 ปัจจุบันนี้ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญที่จะร่วมช่วยกันทำให้การก่อตั้งประชาคมอาเซียนประสบความสำเร็จ เป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจแห่งใหม่ของโลก ซึ่งจะมีผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนกว่า 600 ล้านคนใน 10 ประเทศสมาชิก การขยายตลาดสู่ 10 ระบบเศรษฐกิจที่จะผนึกกำลังเป็นตลาดเดียวกันอย่างแข็งแกร่ง และจะเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งทุกฝ่ายกำลังมองไปข้างหน้าในทิศทางเดียวกัน โดยประเทศไทยจะถอยไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ของชาติอยู่ในกระบวนการนี้ ทั้งนี้ เรื่องพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งคือ ต้องทำให้ คนไทย 64 ล้านคนต้องเชื่อมโยงเข้าหากันได้ก่อน โดยสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคมต่างๆ อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และมีศักยภาพในการสร้างประชาคมที่ตรึงเข้าด้วยกันเป็น Virtual Community หรือ Cyber Community ได้ก่อนจากระบบการสื่อสารไร้พรมแดนที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วกว่าระบบอื่นๆ “นอกจากนี้ ประเทศไทยควรมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการกระจายถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนออกไปให้โลกได้รับรู้ ซึ่งต้องมีความพร้อมในระบบการบริหารจัดการทั้งด้านเนื้อหาสาระและเทคนิคที่ดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สำหรับทุกประเทศ ที่ให้ความสนใจกับประชาคมอาเซียน ดังนั้น บทบาทของผู้ประกอบการ ฝ่ายกำกับดูแล สื่อมวลชน และทุกภาคส่วนจึงต้องทำงานด้วยความร่วมมือกันอย่างมีเอกภาพ ไม่บั่นทอนขัดแย้งกัน โดยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของเราให้มีศักยภาพในการแข่งขัน มีความรู้ความสามารถในการค้นคว้าวิจัยและสร้างเทคโนโลยีต่างๆ ได้เอง เพื่อให้ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมีศักดิ์ศรี มีรากฐานที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เลขาธิการอาเซียน กล่าว ในส่วนของการสัมมนาในหัวข้อ “เส้นทางและโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม : เอกชนต้องการอะไร? ภาครัฐรับได้หรือไม่?” นั้น มีมุมมองที่น่าสนใจจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เข้มแข็ง สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมหากได้มีการพัฒนาจนเกิดการยอมรับ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ธุรกิจอื่นๆ ตามไปด้วย ทั้งยังจะมีส่วนส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ โดยคนรุ่นใหม่ขึ้นอีกมาก ส่วนการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านนั้นควรใช้วิธีค่อยๆ ขยายฐานการลงทุน โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับนักลงทุนในประเทศนั้นๆ ด้าน นายจาฤก กัลย์จาฤก ที่ปรึกษาสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ แสดงความคิดเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการที่มีต่อการรุกตลาดอาเซียน ว่า “นอกจากจะต้องมี Know How แล้ว ยังจะต้องมี Know Who อีกด้วย โดยการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศนั้น ต้องเลือกดูพันธมิตรรายที่มีความแข็งแรงที่สุดที่จะนำพาธุรกิจไปให้ถึงเป้าหมาย ทั้งเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอาศัย connection ที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน นอกจากนี้ เราควรนำเสาหลักเรื่องประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน มาเป็นตัวนำในการสื่อสารออกไป คนทำสื่อต้องมีบทบาทในการเชื่อมโยงวัฒนธรรม ไม่สร้างปัญหาความรุนแรงและข้อขัดแย้ง เพราะต่อไปอาเซียนจะกลายเป็น one community มีความมั่นใจว่าผู้ประกอบการของไทยมีครีเอทีฟดี มีความตั้งใจ มีพัฒนาการดี ซึ่งการใช้วัฒนธรรมเป็นตัวนำนี้ต้องทำร่วมกัน เดินไปด้วยกันให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่รุกมากเกินไป เพราะมีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศที่ต้องการปกป้องการรุกล้ำทางวัฒนธรรม เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว และหากภาครัฐมียุทธศาสตร์ให้ใช้วัฒนธรรมเป็นตัวนำ ภาครัฐต้องเป็นแกนนำช่วยภาคเอกชน ควรมีการตั้งกองทุนเพื่อผลักดันให้เกิด Content ที่สร้างสรรค์ ส่วนภาคเอกชนก็ควรมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือตนเองด้วยเช่นกัน” นางปรีญาภรณ์ ตั้งเผ่าศักดิ์ กรรมการบริหาร และประชาสัมพันธ์ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนมีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐหลายประการ ได้แก่ การต้องการให้ภาครัฐกำหนดทิศทางของกิจการโทรคมนาคมที่ชัดเจน กำหนดแบบระยะยาวและสืบเนื่องต่อไปในทุกรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ควรปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้ทันเหตุการณ์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในเรื่อง Cyber law เนื่องจากต่อไปเมื่อเปิดเสรี การเซ็นเซอร์เนื้อหาจะทำได้ยาก เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องมีความรู้ ซึ่งควรหารือภาคเอกชนถึงแนวทางการเซ็นเซอร์ตัวเอง ดูแลเนื้อหาก่อนเผยแพร่ ทั้งนี้ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนเกิดการแข่งขัน ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ต้องการเงินทุนอีกมากจึงอยากให้ภาครัฐผลักดันและสนับสนุนให้มีการระดมเงินทุนจากตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องการให้ภาครัฐลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนประกอบ ของสินค้าโทรคมนาคม ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็น 0 เปอร์เซ็นต์ มิฉะนั้นไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะต้องเผชิญคู่แข่งสำคัญอย่างประเทศจีน ขณะที่การอภิปรายในหัวข้อ “มุมมองกสทช.ต่อการรวมเป็นประชาคมอาเซียน 2015: โอกาสและความท้าทาย” นั้น พันเอก นที ศุกลรัตน์ ประธาน กสท. กล่าวว่า สำหรับกิจการโทรทัศน์ของไทยนั้น หากการปรับเปลี่ยนระบบจากอนาล็อคเป็นดิจิตอลแล้วเสร็จ มั่นใจว่าจะสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียนได้ เนื่องจากระบบจะมีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจโดยรวมของประเทศ ที่จะสามารถส่งออก content ไปสู่ตลาดอาเซียนและทั่วโลกได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง และเชื่อว่า content ของไทยไม่แพ้ใคร โดยภายในสิ้นปี 2555 นี้จะออกใบอนุญาตโครงข่ายช่องทีวีสาธารณะให้แล้วเสร็จ เพิ่มช่องทีวีสาธารณะจาก 6 ช่องเป็น 48 ช่อง เพิ่มโอกาสไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ให้ได้ทุกกลุ่ม พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. ให้ความเห็นว่า การปรับปรุงกฎหมายไม่ให้ขัดขวางการลงทุนเมื่อเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งกสทช.เองก็ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ตามยุทธศาสตร์ที่อยู่ในแผนแม่บท และจะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าหากการประมูล 3G ลุล่วงด้วยดี รวมถึงการสามารถปลดล็อคสัดส่วนผู้ถือครองหุ้นเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นด่านแรกสู่ความสำเร็จด้านธุรกิจโทรคมนาคมของไทยในประชาคมอาเซียนได้ไม่ยาก ด้าน ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมนั้น มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือผู้ประกอบการรายที่แข็งแรงกว่า ใหญ่กว่า จะได้เปรียบ จะเกิดการกินรวบ จะทำให้เหลือ Operator รายใหญ่เพียงไม่กี่ราย เป็นธุรกิจเชิงผูกขาด ดังนั้นภาครัฐต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ มีบทบาทดูแลไม่ให้เกิดปัญหาการฮั้วกันทางธุรกิจ อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องภูมิศาสตร์ เป็นศูนย์กลางอาเซียน ทั้งทางการบิน และเส้นทางการขนส่ง โครงข่ายที่เชื่อมต่อไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาค แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ศักยภาพในการทดสอบมาตรฐานสินค้า เพื่อรองรับภาคการผลิตที่อยู่ในไทยและให้บริการประเทศอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ควรให้การสนับสนุนตั้งกองทุนเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจภาคบริการโทรคมนาคม การกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งสถาบันการเงินทั่วไปมักมองว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและไม่ให้การส่งเสริม กลายเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ