กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ศศินทร์
ศศินทร์แนะธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเร่งศึกษาตลาดประเทศเพื่อนบ้าน ยืนยันพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละวัฒนธรรมมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เผยผู้ประกอบการมีโอกาสเติบโตและสร้างตลาดใหม่ ถึงเวลากำหนดกลยุทธ์จะเลือกรุกหรือรับหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในฐานะที่ศศินทร์เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมเห็นความสำคัญของการเพิ่มศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการมีโอกาสได้ศึกษาและวิจัยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของตลาดและพฤติกรรมการของลูกค้าในแต่ละท้องถิ่น แม้จะเป็นคนในอาเซียนด้วยกันแต่ทุกประเทศมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการใช้โอกาสในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในการขยายและเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ จำเป็นต้องเร่งศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละชาติ เนื่องจากมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเชื่อ วัฒนธรรม รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการบริโภคและอุปโภค
อย่างไรก็ตาม การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนปี 2558 นี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยได้ถูกจัดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความสามารถจะรุกตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มที่ต้องตั้งรับกับการแข่งขันของตลาดและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 2 กลุ่มนี้มีจะมีศักยภาพที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายและนโยบายในการดำเนินธุรกิจว่าเหมาะสมที่จะรุกเพื่อนำเสนอขายสินค้าและบริการให้กับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ หรือพัฒนาตนเองเพื่อรับมือกับการไหลเข้าของผู้บริโภค รวมทั้งโอกาสที่จะต่อยอดหรือร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มใหม่จากต่างชาติที่ต้องขับเคลื่อนด้วยพลังของเอ็สเอ็มอีสัญชาติไทย
ดร.กฤษติกา ให้ความเห็นถึงกลุ่มธุรกิจที่ต้องการรุกตลาดอาเซียนในอนาคตว่า จะต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้ของตลาดในแต่ละประเทศ โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการวิจัยโครงสร้างประชากรของแต่ละประเทศว่ามีศักยภาพต่อการบุกตลาดใหม่หรือไม่ เช่น การอ่านออกเขียนได้ของประชาชนในท้องถิ่น รายได้ต่อหัว หรือแม้แต่พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและรุกตลาด นอกจากนี้แล้วจะต้องศึกษาคู่แข่งของตลาดในประเทศนั้นๆ เช่น บางธุรกิจอาจไม่เหมาะที่จะรุกตลาดในประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์ เนื่องจากสินค้าจากตะวันตกครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ อาจหันไปศึกษาพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนามที่ตลาดเปิดกว้างกว่า และที่ผ่านมาต่างชาติยังไม่ค่อยกล้ารุกตลาดดังกล่าว แต่ก็ต้องลงทุนอย่างรอบคอบเนื่องจากในบางประเทศก็มีความเสี่ยงและเงื่อนไขรวมทั้งกฎหมายที่ไม่ได้เอื้อต่อการลงทุน
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการรุกตลาดในอาเซียน ผู้ประกอบการจะต้องส่งออกสินค้าที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งอาจไม่ต้องปรับปรุงมากนักเนื่องจากเพื่อนบ้านชื่นชอบสินค้าไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศในแถบอินโดจีนมักได้รับอิทธิพลด้านการบริโภคจากประเทศไทย นอกจากนี้จะต้องมีความจริงใจกับการสร้างพันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งไม่น่ายากนักเนื่องจากมีวัฒนธรรมที่มีความใกล้เคียงกับคนไทยอยู่แล้ว ทั้งนี้ การรุกตลาดในอาเซียนผู้ประกอบการจะต้องเน้นเรื่อง Know How ควบคู่ไปกับ Know Who เพราะสายสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจยั่งยืน
สำหรับธุรกิจที่ได้รับโอกาสจากการไหลเข้าของผู้บริโภคและต้องตั้งรับอยู่ในประเทศ ดร.กฤษติกา ให้ความเห็นว่า หากลงมือพัฒนาตนเองเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับธุรกิจตั้งแต่วันนี้ เชื่อว่าจะมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างแน่นอน เนื่องจากความโดดเด่นและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้คนจำนวนมากต้องการเดินทางมาศึกษาต่อและทำงานในประเทศไทย ที่สำคัญจะต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้สอดคล้องกับความหลากหลายของกลุ่มลูกค้า ธุรกิจขนาดย่อมที่คิดว่าตนเองมีดีอยู่แล้วและไม่เปลี่ยนแปลงอะไรธุรกิจจะตกอยู่ในภาวะอันตรายมากที่สุด เนื่องจากในอนาคตตลาดจะมีการเปลี่ยนแปลงและมีทิศทางการเติบโตต่างจากอดีตที่ผ่านมา
“จุดเด่นบางอย่างของวัฒนธรรมไทย เช่น การมีจิตใจโอบอ้อมอารีและภาพของสยามเมืองยิ้ม อาจไม่แข็งแกร่งพอสำหรับการแข่งขันของตลาดในอนาคต เนื่องจากเป็นพื้นฐานที่ทุกธุรกิจต้องมีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้เอสเอ็มอีอยู่ได้อย่างยั่งยืนก็คือความแตกต่างที่เกิดจากการพัฒนา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และเชื่อว่าความหลากหลายของผลิตภัณฑ์จะทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องความแตกต่างที่มีคุณค่า มากกว่าแตกต่างแล้วใช้ประโยชน์ไม่ได้” ดร.กฤษติกากล่าว และเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสำคัญที่จะตั้งรับได้อย่างยั่งยืนก็คือ การสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัย การเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย ความสะดวกสบาย รวมทั้งคุณภาพและราคาที่เป็นธรรมฯลฯ ผู้ประกอบการไทยต้องสำรวจว่าธุรกิจของตนเองพร้อมที่จะรับด้วยกลยุทธ์เหล่านี้หรือไม่