จิตตภาวนากับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน

ข่าวทั่วไป Monday October 15, 2012 15:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล มนุษยชาติกำลังยืนอยู่ในจุดที่ “โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” ความสับสนปรวนแปรทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ ความซับซ้อนทางสังคม การก่อการร้าย ภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยลำดับ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ อาจทำให้เราต้องหวนกลับมาพิจารณาถึงทางออกจากวิกฤติในระดับขั้นพื้นฐานของมนุษย์และสังคม การแก้วิกฤตการณ์ด้วย “การมองออกไปนอกตัว” ซึ่งเป็นวิธีคิดเดิมในระนาบเดียวกับการสร้างวิกฤตินั้น มิอาจนำมาใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้อีกต่อไป จุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการหันกลับมามอง “ภายในจิตใจของตน” หรือ “จิตตภาวนา” (Meditation) นั่นคือ การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาในการเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มาติเยอร์ ริการ์ (Matthieu Ricard) กล่าวว่า เหตุผลของจิตตภาวนาคือ “การเปลี่ยนแปลงตัวเรา เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่ดีขึ้น” ซึ่งในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ จิตตภาวนาเป็นเรื่องสากลของมนุษยชาติ เป็นการทำงานกับจิตใจของตนเอง ตระหนักรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในใจของตน รวมทั้ง เชื่อมโยงกับสิ่งทั้งปวง นั่นคือประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ (Spiritual experience) ที่ฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) อธิบายว่าเป็นประสบการณ์ที่มีชีวิตชีวาที่หลอมรวมจิตและกายเป็นหนึ่งเดียวกัน อันจะทำให้เราก้าวข้ามการแบ่งแยกระหว่างกายและจิต และการแบ่งแยกระหว่างตัวตนกับโลก หัวใจของการตระหนักรู้ในช่วงเวลาแห่งจิตวิญญาณนี้ จึงเป็นการรับรู้ถึงการเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งทั้งมวลอย่างลึกซึ้ง เป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งในจักรวาล ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้ย่อมส่งผลให้ใจเปิดกว้าง สัมผัสถึง “ความดี ความงาม ความจริง” และนี่คือหนทางสู่การเปลี่ยนแปลงตนเองในขั้นพื้นฐาน (Personal Transformation) หนทางแห่งจิตตภาวนาในการเปลี่ยนแปลงตนเอง จึงนับเป็นก้าวแรกและเป็นก้าวสำคัญ เมื่อมีบุคคลที่มีจิตใจเปิดกว้าง อิสระ จำนวนมากพอ การเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนหรือองค์กร (Organizational Transformation) ย่อมเกิดขึ้นได้ และย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมอารยะ (Societal Transformation) ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ