กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
โรคความจำเสื่อม เป็นปัญหาที่คุกคามคนไทย โดยระยะหลังเริ่มพบโรคนี้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง ชี้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด และมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ และกลัวการรักษา จนปล่อยให้โรคลุกลามเกินเยียวยา รพ.กรุงเทพชี้ผู้ที่มีอาการหลงๆ ลืมๆ มากผิดปกติอย่าได้ชะล่าใจ พร้อมไขเทคนิคใหม่ในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของสมองด้วยเทคนิคใหม่ รู้ผลได้ไว ไม่เจ็บตัว
ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ อายุรแพทย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปแล้วในปัจจุบัน โรคอัลไซเมอร์ ไม่ได้เริ่มเกิดในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่จากการศึกษาพบว่าการเกิดโรคจะเริ่มเกิดตั้งแต่ช่วงอายุ 40-65 ปี ซึ่งในเมืองไทยตอนนี้มีสถิติผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ถึงเกือบ 2 ล้านคน โดยโรคอัลไซเมอร์หรือความจำเสื่อม เกิดจากจากความผิดปกติของเซลล์สมองถูกทำลายซึ่งมีสาเหตุได้จากหลายสาเหตุ เช่น การเสื่อมที่เกิดขึ้นตามวัย พันธุกรรม อุบัติเหตุทางสมอง โรคหลอดเลือดสมอง โรคการติดเชื้อของสมอง โรคทางกายที่มีผลกระทบต่อเซลล์สมอง เป็นต้น การเกิดโรคจะเริ่มต้นจากการที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติทางความจำต่อมาเริ่มมีอาการหลงลืมหรือความจำถดถอยเล็กน้อยจนกระทั่งความจำเริ่มถดถอยมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการสมองเสื่อมอย่างชัดเจนโดยเริ่มมีผลกระทบต่อการดำเนินในชีวิตประจำวัน "โรคอัลไซเมอร์จะมีระยะเวลาการก่อโรคนาน 15-20 ปีกว่าจะมีอาการสมองเสื่อมชัดเจน การแสดงอาการของโรคจะเป็นไปอย่างช้าๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจากภาวะปกติที่ผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติเรื่องความจำแต่เริ่มมีการสะสมของสารเบต้าอมีลอยย์ในสมองต่อมาเมื่อมีการสะสมของสารตัวนี้มากขึ้นเรื่อยจะเริ่มมีการทำลายของเซลล์สมอง การที่ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการความจำถดถอยเกิดขึ้นเป็นผลจากการสะสมของสารเบต้าอมีลอยย์มาแล้ว 10-15 ปี ต่อมาผู้ป่วยถึงจะมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีอาการสมองเสื่อมชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยและรักษาทำได้ไม่ทันท่วงที ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเพิกเฉยคิดว่าความผิดปกติทางความจำเล็กน้อยไม่ได้เป็นอาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อม และความไม่เข้าใจที่ว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เริ่มเกิดในคนสูงอายุและเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกัน และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และต้องทานยาอย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต"
ดร.นพ.โยธิน บอกว่า หากมีญาติที่เริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ ผิดปกติ เช่น ลืมทานยาประจำตัว ลืมปิดเตาแก๊ส ลืมกุญแจ ลืมปิดประตูบ้าน ลืมปิดไฟ ลืมทำในสิ่งที่เคยทำในชีวิตประจำต่างๆ มากขึ้น มีปัญหาด้านการเรียนรู้ ใครบอกอะไรไปแล้วไม่จำซึ่งแต่ก่อนไม่เป็น นึกชื่อสิ่งของไม่ออกว่าชื่ออะไร ภาวะอาการการนอนผิดปกติ หรือเห็นภาพหลอน ควรรีบพบแพทย์ระบบประสาททันที เพื่อตรวจหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ โดยปัจจุบันนี้เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาไปมาก มีการตรวจความผิดปกติของสมองด้วยเครื่อง PET Scan หรือการสแกนด้วยรังสี เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางสมอง ข้อมูลทางคลีนิก การตรวจเรื่องความจำและผลจาการตรวจทาง PET scan จะสามารถยืนยันความผิดปกติได้ถูกต้องได้ถึง >90% การที่ผู้ป่วยรู้ตัวล่วงหน้าว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคต จะช่วยให้ผู้ป่วยวางแผนปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต โดยเน้นการบริหารสมองด้วยการอ่านหนังสือ เล่นเกมที่อาศัยการคิดคำนวณ การพบปะพูดคุยเข้าสังคม ทั้งหมดที่สามารถช่วยชะลอ หรือทุเลาอาการเสื่อมที่จะเกิดขึ้นได้
พ.อ.นพ.สามารถ ราชดารา แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ โรงพยาบาลวัฒโนสถ ให้ข้อมูลเสริมว่า แต่เดิมนั้นจะรู้จักการใช้เครื่อง PET Scan ว่ามีไว้สำหรับการรักษาโรคมะเร็ง แต่ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ที่หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องรุนแรงและน่ากลัว ซึ่งความจริงนั้นเวชศาสตร์นิวเคลียร์จะช่วยให้การวินิจฉัยและรักษาโรคที่ต้องใช้สารกัมมันตรังสีต่างๆ มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยจะใช้ปริมาณรังสีให้น้อยที่สุดกับผู้ป่วยแต่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย ซึ่งเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่ใช้กันในปัจจุบัน ก็คือ การนำนิวเคลียร์เทคโนโลยี เช่น สารเภสัชรังสีชนิดต่างๆ เช่น F-18(Fluorine-18), C-11 (Carbon-11), N-14 (Nitrogen-14), O-15 (Oxygen-15) นำมาสังเคราะห์รวมกับสารที่มีลักษณะเดียวกับสารชีวเคมีในร่างกาย เช่น น้ำตาล, กรดอะมิโน ฉีดหรือรับประทานเข้าร่างกายของผู้ป่วยเพื่อดูการทำงานของระบบและอวัยวะในร่างกาย สารเภสัชรังสีนี้จะแพร่กระจายไปตามกระแสเลือดและเนื้อเยื่อ โดยกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของร่างกายวิธีการตรวจด้วยเครื่อง PET เป็นวิธีการถ่ายภาพทางการวินิจฉัยที่ไม่เจ็บปวด (non-invasive technique) โดยสามารถแสดงภาพในแบบ 3 มิติ แบบภาพตัดขวางตามแกนของร่างกาย (Tomographic images) และสามารถตรวจวัดหาค่าเชิงปริมาณของการกระจายของสารในร่างกาย, การทำงานของเซลล์, การทำงานของร่างกาย สรีรวิทยา และเมตาบอลิซึมของเนื้อเยื่อได้ ซึ่งได้รับการพัฒนาให้หลากหลายมากขึ้น จนปัจจุบันสามารถนำมาวินิจฉัยโรคอื่นๆ นอกจากโรคมะเร็ง เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือดและกล้ามเนื้อหัวใจตาย วินิจฉัยและติดตามผลการรักษาเนื้องอกในสมอง วินิจฉัยและกำหนดตำแหน่งสาเหตุการชักในสมอง และวินิจฉัยภาวะความจำเสื่อม (Alzheimer’s disease) ได้อีกด้วย ซึ่งการวินิจฉัยโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ด้วยเครื่อง PET Scan คือการวัดการทำงานของเซลล์สมอง จากระดับกลูโคสหรือน้ำตาลในสมองซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเจนในผู้ป่วยความจำเสื่อม แสดงภาพได้ทั้งในแบบ 2 และ 3 มิติ ซึ่งผลของภาพถ่ายที่แสดงจะให้สีที่แตกต่างชัดเจนในบริเวณที่มีปัญหา หรือมีแนวโน้มที่จะพบภาวะเสื่อมได้ในอนาคต
ดร.นพ.โยธิน กล่าวเพิ่มเติมว่า “การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมด้วยเทคนิค PET Scan หรือ FDG-PET Brain ได้นำมาใช้ในการตรวจโรคอัลไซเมอร์ในการแยกโรคจากโรคสมองเสื่อมชนิดอื่นๆ เช่น Lewy body dementia, Vascular dementia และ Fronto-temporal dementia นอกจากนี้ยังใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรคสมองเสื่อมในระยะต่างๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ระยะกลาง และระยะท้ายของโรค
ปัจจุบันยังคงมีการพยายามพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้มีการค้นพบสารชนิดหนึ่งชื่อว่า ‘เบต้าอมีลอยด์’ ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีการใช้ PET Scan โดยใช้สาร C11-PIB ( Pittsburgh Compound B) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ผู้เชี่ยวชาญให้การยอมรับในการตรวจวินิจฉัยภาวะอัลไซเมอร์เข้ามาช่วย โดยเทคนิคการตรวจด้วยสาร Pittsburgh Compound B นี้มีข้อดีคือ สามารถตรวจหาสารเบต้าอมีลอยด์ในสมองผู้ป่วยได้ตั้งแต่ระยะที่ยังไม่ปรากฎอาการ ตลอดจนทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจาะไขสันหลังเพื่อตรวจดูภาวะผิดปกติของโรคอัลไซเมอร์ และสามารถให้ผลการตรวจที่แม่นยำ ไม่ทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บตัว อีกทั้งสารตัวนี้มีความปลอดภัยและใช้กันในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือออสเตรเลียเนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทางโรงพยาบาลกรุงเทพนับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนี้ที่มีศักยภาพในการผลิตสารดังกล่าวได้เป็นผลสำเร็จ
อย่างไรก็ตามคุณหมอแนะนำวิธีดูแลตัวเองสำหรับคนที่ไม่อยากเป็นโรคอัลไซเมอร์แบบง่ายๆ ดังนี้ ต้องหมั่นบริหารสมองตัวเองอยู่เสมอ เช่น การอ่านหนังสือเป็นประจำ ดูแลสุขภาพจิตตัวเองให้ดี เป็นคนคิดบวก พยายามไม่เครียด ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสำหรับผู้ที่เริ่มสงสัยว่าตัวเองจะเป็นโรคความจำเสื่อม มีความเสี่ยงหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ ก็สามารถตรวจวินิจฉัยด้วยเทคนิค PET Scan โดยใช้สาร C11-PIB หรือ Pittsburgh Compound B เพื่อตรวจหาสารเบต้าอมีลอยด์ได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป เพราะยิ่งแพทย์สามารถพบอาการได้เร็วเท่าไรโอกาสในการยับยั้งอาการและรักษาโรคนี้ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น คุณหมอกล่าวทิ้งท้าย