ศศินทร์ - TMA - นิตยสาร MBA ผนึก ธปท.และสถาบันการเงิน แนะประโยชน์ “เปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายในเออีซี”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 15, 2012 17:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ศศินทร์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และนิตยสาร MBA ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงิน ร่วมเวทีเสวนา ระดมความคิดแนะแนวความรู้ ในงาน “โค้งสุดท้ายสู่ AEC รู้สู้ Free Flow of Capital” เจาะลึกในสิทธิประโยชน์จากเออีซีที่ไทยจะได้รับในการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย ทั้งที่เป็นผู้ส่งเงินไปลงทุน หรือผู้ได้รับเงินลงทุน เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ในอีก 3 ปี ข้างหน้า นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่าภาคเอกชนควรเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเป้าหมายหลักของ AEC ในด้านการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น ประกอบด้วย 1.ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายเงินทุนให้เสรีมากขึ้น โดยยกเลิกหรือผ่อนคลายกฎข้อบังคับที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งคำนึงถึงความพร้อมของระบบเศรษฐกิจและเสถียรภาพในและนอกประเทศ และ 2.ส่งเสริมการรวมตัวและการพัฒนาตลาดทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการร่วมสร้างมาตรฐานตลาดทุนในรูปแบบของตราสารและผู้เล่นในตลาด ในส่วนของ ธปท. ได้จัดทำแนวทางการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศและบริหารความเสี่ยงโดยมีต้นทุนที่ถูกลง รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย เช่น ผ่อนคลายให้บุคคลธรรมดาลงทุนโดยตรงในต่างประเทศไม่จำกัด และผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการเพิ่มประเภทผู้ลงทุน ขยายขอบเขตประเภทหลักทรัพย์ที่ลงทุน ขยายวงเงินลงทุน และลดขั้นตอนการขออนุญาตจาก ธปท. ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างอาเซียนมากขึ้น ได้แก่ 1.ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ส่งเงินไปลงทุน จะช่วยในด้านการขยายฐานการผลิตไปยังประเทศในอาเซียน ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่และเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสูง และการกระจายเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศในตลาดอาเซียนมากขึ้น และ 2. ในฐานะที่ไทยเป็นผู้รับเงินลงทุน ส่งผลให้เงินออมจำนวนมากในภูมิภาคจะเป็นแหล่งเงินทุนที่มั่นคง และดึงดูดให้มีเงินทุนจากภูมิภาคอื่นไหลเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การระดมทุนของธุรกิจไทยมีต้นทุนที่ต่ำลง นักธุรกิจไทยควรเตรียมความพร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การศึกษาข้อกำหนด กฎเกณฑ์ด้านต่าง ๆ ของประเทศที่ลงทุน การสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การประสานการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกันและการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ด้าน ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศศินทร์ กล่าวแนะว่า นักธุรกิจ และนักลงทุนควรคำนึงถึงความเสี่ยง และเตรียมความพร้อมด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่เรื่องต้นทุนการผลิต เน้นประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีการบริหารจัดการกับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ด้านผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเองบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยง จึงควรเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยงให้ดีเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจและสามารถแข่งขันกับเวทีการค้าใหม่ที่กำลังจะมาถึงในอีก 3 ปี ส่วน นางสาวรัตนา ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการโครงการพิเศษ นิตยสาร MBA หนึ่งในผู้จัดงานสัมมนาครั้งนี้ กล่าวว่า การจัดสัมมนาเรื่อง AEC : Free Flow of Capital ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ต่อจากเรื่อง Human Resource โดยมุ่ง เน้นเรื่องการวางแผนการลงทุน แหล่งเงินทุน และความพร้อมด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย อาทิ คุณชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) , คุณเกตสุดา สุประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง , ดร.ครรชิต สิงห์สุวรรณ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ และSMEs ธนาคารอิสลาม แห่งประเทศไทย ทางนิตยสาร MBA ดำเนินการจัดสัมมนาครั้งนี้ครบ 5 ซีรีย์ 5 เรื่อง ได้แก่ Investment , Product & Brand , Service , Human Resource และ Capital ระดมหลายภาคส่วนนำเสนอเนื้อหาที่ครอบคลุมและเรื่องราวน่ารู้ที่ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาและเข้าใจวิธีรับมือเตรียมพร้อมรับเออีซี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ