กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--กรีนพีซ
ฮาวายตะลึง ผลตรวจมะละกอจีเอ็มโอครั้งใหม่ เจอปนเปื้อนบน 3 เกาะใหญ่เกษตรกรและผู้บริโภคร่วมส่งมะละกอปนเปื้อนคืนมหาวิทยาลัยฮาวาย เรียกร้องให้รับผิดชอบ
ผลการตรวจสอบจากห้องปฎิบัติการอิสระซึ่งเปิดเผยในวันนี้ พบการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอไปปนเปื้อนกับมะละกอท้องถิ่น บนเกาะโออาฮู (Oahu) บิ๊กไอส์แลนด์ (Big Island) และ คาไวอิ (Kauai) และยังพบด้วยว่า เมล็ดมะละกอพันธุ์ปกติที่ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ซึ่งมหาวิทยาลัยฮาวายผลิตไว้จำหน่ายก็ปนเปื้อนจีเอ็มโอด้วยเช่นกัน
เมื่อเวลา 04:00 น. ของวันที่ 10 กันยายน 2547 (ตามเวลาประเทศไทย) เกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ประชาชน และนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาย ร่วมกับกลุ่ม ‘ฮาวายปลอดจีเอ็มโอ’ (GMO-Free Hawaii) ประกาศผลการวิจัยที่สร้างความตื่นตะลึงนี้ที่มหาวิทยาลัยฮาวายซึ่งเป็นศูนย์ผลิตและกระจายพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอ เกษตรกร ผู้บริโภค และประชาชนที่ปลูกมะละกอไว้ในสวนหลังบ้านหลายสิบคน นำมะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอของพวกเขามาส่งคืนให้กับทางมหาวิทยาลัย เพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทำแผนกำจัดการปนเปื้อน นอกจากนี้ กลุ่มประชาชนยังเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยมีมาตรการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ปลูกมะละกอท้องถิ่น พร้อมทั้งป้องกันมิให้ผลิตผลทางการเกษตรชนิดอื่นๆของฮาวายต้องปนเปื้อนจีเอ็มโอไปด้วย
กลุ่ม ‘ฮาวายปลอดจีเอ็มโอ’ ส่งตัวอย่างมะละกอเหล่านี้ไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการเจเนติกไอดี (Genetic ID) ซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก ผลปรากฎว่า จากเมล็ดมะละกอเกือบ 2 หมื่นเมล็ดที่เก็บรวบรวมมาจากสวนเกษตรอินทรีย์ สวนหลังบ้าน และต้นมะละกอที่ขึ้นเองทั่วเกาะบิ๊กไอส์แลนด์ มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอถึงร้อยละ 50 ขณะที่ตัวอย่างมะละกอที่เก็บจากสวนเกษตรอินทรีย์บนเกาะโออาฮู ตรวจพบการปนเปื้อนมากกว่าร้อยละ 5 และยังพบการปนเปื้อนในสวนเกษตรอินทรีย์แห่งหนึ่งบนเกาะ คาไวอิด้วยนอกจากนี้ ทางกลุ่มยังส่งเมล็ดมะละกอพันธุ์ โซโลไวมานาโล (มะละกอพันธุ์ปกติที่ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรม) ซึ่งซื้อจากมหาวิทยาลัยฮาวายไปตรวจ และพบว่ามีการปนเปื้อนจีเอ็มโอเช่นกัน
โทอิ ลาห์ติ (Toi lahti) เกษตรกรสวนเกษตรอินทรีย์ และผู้ปลูกมะละกอจากเกาะบิ๊กไอส์แลนด์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ขายเมล็ดพันธุ์ปนเปื้อนจีเอ็มโอให้กับเกษตรกรและผู้ปลูกมะละกอท้องถิ่นของเรา เพราะนอกจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เหล่านี้ อาจจะถูกริบใบอนุญาตเพราะปลูกพืชจีเอ็มโอแล้ว พืชเหล่านี้ก็เป็นสิทธิบัตรของบริษัทอย่างมอนซานโตอีกด้วย ทำให้โอกาสที่เกษตรกรจะถูกมอนซานโต้ฟ้องร้องเพราะละเมิดสิทธิบัตรมีความเป็นไปได้สูง แม้ว่าพวกเขาจะปลูกโดยไม่รู้ว่าเป็นมะละกอจีเอ็มโอก็ตาม
มาร์ค เควรี่ แห่งกลุ่ม ‘ฮาวายปลอดจีเอ็มโอ’ ระบุว่าผลการตรวจสอบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สต็อกของเมล็ดพันธุ์มะละกอที่ไม่ได้ตัดต่อยีนของมหาวิทยาลัยฮาวายปนเปื้อนจีเอ็มโอ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบและเร่งดำเนินการคุ้มครองเกษตรกร ผู้บริโภค และ สิ่งแวดล้อมในทันทีทันใด เพราะการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ เป็นกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอที่กำลังรุกคืบเข้าไปในภาคการเกษตรท้องถิ่น ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การที่อนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอร่วมกับพืชท้องถิ่น (Coexistence) นั้นเป็นไปไม่ได้
เกษตรกรฮาวายวิตกว่า วิกฤตการปนเปื้อนจีเอ็มโอนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่มีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าพืชจีเอ็มโอ เช่น ญี่ปุ่น เมลานี บอนเดอรา (Melanie Bondera) เกษตรกรจากเขตโคนา (Kona) และสมาชิกของเครือข่ายต้านจีเอ็มโอฮาวาย (Hawaii Genetic Engineering Action Network) กล่าวว่าเกาะบิ๊กไอส์แลนด์มีพื้นที่ปลูกมะละกอจีเอ็มโอเพื่อการค้ามากที่สุดของรัฐฮาวาย หากยังคงปลูกพืชจีเอ็มโอต่อไป ภาคการเกษตรของฮาวายจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญเสียชื่อเสียงในตลาดส่งออกทั่วโลกอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
นายแพทย์ลอร์ริน แปง (Dr. Lorrin Pang) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข กล่าวถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคมะละกอจีเอ็มโอและอาหารจีเอ็มโออื่นๆ ซึ่งรวมถึงการดื้อยาปฏิชีวนะที่เพิ่มขึ้น และการเกิดอาการภูมิแพ้ที่คาดไม่ถึง “สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ความเป็นห่วงจะน้อยกว่านี้ ถ้าการกลายพันธุ์จีเอ็มโอไม่ได้ขยายขอบเขตเกินความตั้งใจของเรา แต่ผลการตรวจสอบในวันนี้ชี้ให้เห็นว่า จีเอ็มโอแพร่กระจายไปอย่างควบคุมไม่ได้ ถ้าหากเกิดปัญหาด้านสุขภาพขึ้นเพราะอาหารจีเอ็มโอเป็นต้นเหตุ เราจะไม่สามารถเรียกสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ที่อันตรายนี้ให้กลับคืนมาได้ เพราะมันถูกปล่อยให้แพร่กระจายออกไปสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว”
ดร. เฮคเตอร์ วาเลนซูเอลา (Dr.Hector Valenzuela) นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านพืชเขตร้อนจากคณะพืชเขตร้อนและวิทยาศาสตร์ดินแห่งมหาวิทยาลัยฮาวายวิทยาเขตมาเนา (Manoa) ยืนยันว่า การสนับสนุนพืชตัดต่อยีนของมหาวิทยาลัยจะทำให้ภาคการเกษตรของฮาวายเดินไปผิดทาง เขากล่าวว่า แทนที่เราจะสนับสนุนเทคโนโลยีที่ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างจีเอ็มโอต่อไป มหาวิทยาลัยฮาวายควรหันมาวิจัยและส่งเสริมวิธีการปลอดจีเอ็มโอที่สามารถแก้ปัญหาภาคการเกษตรท้องถิ่นได้ เขายังกล่าวต่ออีกว่า เกษตรกรชาวฮาวายต้องการความก้าวหน้าทางการเกษตรที่สามารถปกป้องไร่นา และเศรษฐกิจการเกษตรของรัฐได้ในระยะยาว
เมลานีกล่าวว่า สืบเนื่องจากการตรวจพบการปนเปื้อนจีเอ็มโอครั้งนี้ กลุ่ม ‘ฮาวายปลอดจีเอ็มโอ’ จะเริ่มดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง “มหาวิทยาลัยฮาวายและกลุ่มอุตสาหกรรมจีเอ็มโอ สร้างภาพให้เห็นว่ามะละกอจีเอ็มโอเป็นความสำเร็จสำหรับผู้ปลูกมะละกอท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เกษตรกรฮาวายเจอจากมะละกอจีเอ็มโอกลับเป็นเรื่องที่เศร้าสลดเกินกว่าจะบรรยาย” เมลานีกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งๆ ที่เกษตรกรท้องถิ่นกำลังมีปัญหากับมะละกอจีเอ็มโอ แต่ทางมหาวิทยาลัยฮาวาย ก็ยังคงเดินหน้าตัดต่อพันธุกรรมเผือก สับปะรด กล้วย อ้อย และผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ของฮาวายอีก “ ปัญหาการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอชี้ให้เห็นแล้วว่า ยังมีคำถามอีกมากมายที่ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร คำถามเหล่านี้มีมากเกินกว่าที่เราจะให้ปล่อยสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรมที่ยังอยู่ภายใต้การทดลองออกสู่สิ่งแวดล้อม”
“เราไม่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่พืชจีเอ็มโอชนิดอื่นๆ ออกมาอีก และขอให้มหาวิทยาลัยฮาวายสนับสนุนการวิจัยเกษตรแบบยั่งยืนของท้องถิ่น” เมลานีกล่าวเรียกร้อง
หมายเหตุ
1. รายงานเรื่อง “ทำไมไม่เอามะละกอจีเอ็มโอ” และ “มะละกอจีเอ็มโอ พืชผิดธรรมชาติ” ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.truefood.org
2. รัฐฮาวายอนุมัติให้ปลูกมะละกอจีเอ็มโอเพื่อการค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541
3. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 เกษตรกรฮาวายเคยเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเล่าบทเรียนที่เจ็บปวดจากมะละกอจีเอ็มโอให้กับเกษตรกรไทยและประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมะละกอฟัง และเตือนว่าเหตุการณ์เดียวกันอาจเกิดขึ้นในประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
เมลานี บอนเดอรา เครือข่ายต้านจีเอ็มโอ ฮาวาย โทร 001-808-640-1643
โนลิ โฮเย กลุ่มคาไวอิปลอดจีเอ็มโอ โทร 001-808-651-9603
เอื้อพันธ์ ชำนาญเอื้อ เจ้าหน้าที่ประสานงานสื่อมวลชน
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร. 02 272 7100 ต่อ 126--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--