กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
ในช่วงเทศกาลกินเจ ประชาชนจำนวนมากหันมาบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น ซึ่งการรับประทานอาหารเจเป็นอาหารเพื่อสุขภาพและเพื่อบุญแห่งชีวิต โดยการรับประทานเจจะทำให้ได้อานิสงส์หลักๆ คือ ล้างพิษจากเนื้อสัตว์ ร่างกายได้วิตามินและแร่ธาตุ จิตใจรู้สึกสบาย ซึ่งการกินผัก ผลไม้ ถั่วและเต้าหู้นี้เป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่สำคัญอันดับแรกก็คือ ควรคำนึงถึงความสะอาดของอาหารที่เราจะรับประทานด้วย
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7 อุบล) เผยว่า จากการเฝ้าระวังทางการแพทย์ ยังคงตรวจพบการตกค้างสารฟอกขาว (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์)ในผักแห้ง จำพวกเก๋ากี้ ดอกไม้จีน เยื่อไผ่ เห็ดหูหนู และเห็ดหอม ซึ่งมักนำมาใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร โดยเฉพาะดอกไม้จีนพบปริมาณสารฟอกขาวสูงสุด รองลงมา คือ เยื่อไผ่ เห็ดหูหนูขาว หากร่างกายได้รับสาร ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในปริมาณที่มากเกินกว่าค่าความปลอดภัย อาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคหอบ หืด หรือผู้ที่แพ้สารนี้ ซึ่งมีอาการคือ ทำให้หายใจขัด คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ อุจจาระร่วง เป็นลมพิษ ความดันโลหิตต่ำ อาจช็อคหมดสติ และเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้กำหนดค่าบริโภคซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในแต่ละวันที่ได้รับ ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน โดยประชาชนที่นำเห็ดหูหนูมาบริโภคนั้นควรล้างน้ำแล้วลวกในน้ำเดือด 2 นาที ก่อนนำไปปรุงอาหาร จะลดการตกค้างได้ดีกว่าแช่น้ำ ส่วนดอกไม้จีนให้นำมาล้างน้ำ ก่อนปรุงอาหารทุกครั้ง จะช่วยลดสารดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 90
ส่วนการบริโภคผักและผลไม้สด แนะนำให้ทำความสะอาดผักและผลไม้ก่อนนำมารับประทาน ด้วยวิธีการดังนี้
1. นำผักหรือผลไม้แช่น้ำสะอาดประมาณสัก 5 — 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
2. การล้างผัก ใช้วิธีล้างโดยน้ำไหลผ่านจากก๊อก เป็นเวลาประมาณ 2 นาที
3. แช่ผักลงในน้ำปูนใส ซึ่งน้ำปูนใสกับน้ำ 50 ต่อ 50 แช่ทิ้งไว้ประมาณสัก 10 นาที แล้วล้าออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
4. การแช่ผักลงในน้ำเกลือ โดยมีอัตราเกลือครึ่งช้อนชาต่อน้ำ 2 ลิตร แล้วล้างอีกครั้งด้วยน้ำสะอาด
5. การแช่ผักในน้ำซาวข้าว ซึ่งวิธีนี้น่าจะทำได้ทุกครั้ง โดยการแช่ผักทิ้งไว้นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
6. การแช่ผักในน้ำส้มสายชูเจือจาง อัตราน้ำส้มสายชูครึ่งช้อนชาต่อน้ำ 2 ลิตร เป็นเวลานาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
นพ.ศรายุธ กล่าวอีกว่า สำหรับท่านที่มีโรคประจำตัวยอดฮิตอย่างเบาหวาน ความดันสูง โรคหัวใจและไขมันนั้นการรับประทานเจจะต้อง จับตา เรื่อง แป้ง น้ำตาล น้ำมันและความเค็มมากสักหน่อย ถ้าไม่แน่ใจขอให้หลักง่ายๆ ไว้ว่า เน้นอาหารผัก รับประทานผักชนิดที่อิ่มออกเป็นหัว เช่นหัวผักกาด รวมถึงธัญพืชเช่นถั่วลิสง , รำข้าวโอ้ตและงาดำ หนักที่การต้ม ส่วนเรื่องผัดทอดและย่างให้ลดลง ผสมเต้าหู้ เต้าหู้ช่วยลดความดันโลหิตได้โดยไม่ทำให้น้ำตาลขึ้น ให้รับประทานแบบไม่ทอดน้ำมันจะดี ดูไม่ต้องเติม เครื่องปรุงโดยเฉพาะ เค็ม แม้จากซีอิ๊วหรือกะปิเจก็ต้องระวังในท่านที่เป็นความดันครับ ขอแนะให้ใช้ซีอิ๊วเจแบบ เกลือต่ำ เพื่อสุขภาพแทนดีกว่า ทั้งนี้ อาหารเจเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะกับคนทุกเพศวัย ในเด็กกำลังโตถ้าเกรงจะขาดสารอาหารก็ให้ใช้วิตามินเสริมเข้ามาได้ หรือในผู้ที่มีโลหิตจางอยู่แล้วก็ขอให้รับประทานวิตามินบี 12 เอาไว้ด้วยจะได้ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง และที่สำคัญที่สุดก็คือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงหรือรับประทานอาหาร