กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จากการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งการศึกษานับเป็นกลไกหลักในการนำประชาคมอาเซียนสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคม มีศักยภาพในการแข่งขันและอำนาจต่อรองเจรจากับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่นๆ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาอันดับ 1 ในภาคใต้ของประเทศไทยจึงได้เริ่มจัดทำ “แผนปฏิบัติการสู่ประชาคมอาเซียน” พ.ศ.2555-2558 เพื่อการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาหรือ Education Hub ภายใต้ภาวการณ์เปิดเสรีของอาเซียนด้วย 5 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย การเตรียมพร้อมด้านการเรียนการสอน การเตรียมพร้อมด้านการวิจัย การเตรียมพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากร การเตรียมพร้อมด้านการพัฒนานักศึกษาและการเตรียมพร้อมด้านวิเทศสัมพันธ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการเงิน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้การก้าวสู่ความเป็นสากลและนานาชาติให้เป็นยุทศาสตร์หนึ่งของแผนพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พ.ศ.2555-2558 จึงเกิดการจัดทำแผนปฏิบัติการสู่ประชาคมอาเซียนขึ้นเพื่อเป็นทิศทางหลักในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของประชาคมอาเซียนและเตรียมความพร้อมของระบบสนับสนุนการศึกษาให้เป็นสากล
สำหรับแผนปฏิบัติการสู่ประชาคมอาเซียนนั้นจำแนกเป็นกลยุทธ์สำหรับวางแผนงานโครงการทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย กลยุทธ์การเตรียมพร้อมด้านการเรียนการสอน ด้วยการจัดโครงการเพื่อพัฒนาหลักสูตร ได้แก่ การเพิ่มหลักสูตรนานาชาติ การเพิ่มหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรในเอเชีย การเปิดสอนหลักสูตรอาเซียนศึกษา การจัดทำหลักสูตร Summer School โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ การควบคุมมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาให้อยู่ในระดับสากล การจัดให้มีการสอดแทรกภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ พัฒนาการเรียนการสอนด้วยการเสริมสร้างสมรรถนะด้านการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การสื่อสาร เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 2 คือ การเตรียมพร้อมด้านการวิจัย โดยจัดทำระบบการนำผลงานและนวัตกรรมสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์และพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ ฐานความรู้และความสามารถในการแข่งขัน การจัดตั้งสถาบันวิจัยเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลักของภาคใต้ การจัดกลุ่มวิจัยเพื่อศึกษาและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน พร้อมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยกับหน่วยงานหรือมหาวิทยาลัยต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย
กลยุทธ์ถัดมาคือการเตรียมพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งมหาวิทยาลัยจะส่งเสริมให้เกิดโครงการพัฒนาอาจารย์และบุคลากรให้มีสมรรถนะสากลเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับหน่วยงานในประเทศอาเซียน การให้ความรู้กับคณาจารย์และบุคลากรรวมทั้งประชาชนทั่วไปและบุคลากรด้านการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรม การทดสอบทักษะทางด้านภาษาของบุคลากร การสร้างความเข้มเข็งทางด้านภาษาด้วยการจัดอบรมหรือศึกษาดูงานต่างประเทศการส่งเสริมให้บุคลากรนำเสนอผลงานทั้งในและประเทศเป็นต้นด
กลยุทธ์ที่ 4 คือการเตรียมพร้อมด้านการพัฒนานักศึกษา ด้วยการจัดโครงการเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้ ความสามารถทางด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากลและภาษาของประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน ทักษะด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับหน่วยงานในประเทศอาเซียน การจัดกิจกรรมทัศนศึกษาเพื่อเรียนรู้วิถีชุมชนของแต่ละประเทศ สนับสนุนให้นักศึกษาระดับบัณฑิตมีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมเป็นชาวต่างชาติเพื่อเป็นช่องทางให้นักศึกษามีโอกาสและประสบการณ์ทำวิจัยในต่างประเทศ การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับชนชาติและวัฒนธรรมของประเทศอาเซียนผ่านการจัดกิจกรรมหรืองานวิชาการต่างๆ
และกลยุทธ์สุดท้าย กลยุทธ์ที่ 5 คือการเตรียมพร้อมด้านวิเทศสัมพันธ์ โดยเน้นการสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาจากประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มากขึ้น โดยเฉพาะ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชาและพม่า การจัดตั้งศูนย์ประสานงานนักศึกษาต่างชาติ เพื่อให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำหรับดูแลนักศึกษาต่างชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างเครือข่ายฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานที่เป็นประโยชน์ออกสู่สายตานานาชาติ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านต่างๆ เป็นต้น
รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการเงิน กล่าวเพิ่มเติมว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กำลังเร่งดำเนินการพัฒนามหาวิทยาลัยด้วยกลยุทธ์ทั้ง 5 ประการข้างต้นให้ทันกับสถานการณ์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพื่อจะเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการศึกษาของประชาคมอาเซียนตลอดจนเป็นที่พึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมได้ในอนาคต
พรรณภัทร ประทุมศรี
นักประชาสัมพันธ์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โทรศัพท์ 0-7428-2000
โทรสาร 0-7455-8941
อีเมล : phannaphat.p@gmail.com