คต. เตือนผู้ประกอบการไทยปรับตัวรับมือ การพัฒนาคุณภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 16, 2012 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--คต. นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จีนได้เริ่มให้ความสำคัญคุณภาพ มาตรฐานของสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานสินค้าดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งปรับตัวเพื่อสู้กับสินค้าจากจีน จีนมีระบบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อการนำเข้า-ส่งออก ๒ ประเภท ได้แก่ มาตรฐานบังคับ (Compulsory Standards) เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตมนุษย์ ทรัพย์สิน และมาตรฐานสมัครใจ (Recommend Standards) เป็นมาตรฐานส่งเสริม หรือมาตรฐานอื่นๆ ที่ไม่ใช่มาตรฐานบังคับ ขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของจีนเริ่มจากโรงงานผู้ผลิตสินค้ายื่นคำร้องขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่อศูนย์รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์แห่งประเทศจีน (China Quality Certification Center : CQC) ประกอบด้วยขั้นตอนการทดสอบผลิตภัณฑ์แบบสุ่มตัวอย่างในแต่ละรุ่น การตรวจสอบโรงงาน การประเมินและอนุมัติให้ผ่านการรับรอง และประเมินความสามารถในการประกันคุณภาพด้านการผลิตว่าสามารถผลิตสินค้าให้มีคุณภาพสอดคล้องกับตัวอย่างที่ผ่านการรับรองและผ่านการทดสอบตามวิธีการที่กำหนด ในอดีตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนมีภาพลักษณ์ไม่สู้ดีนักในสายตาผู้บริโภคทั่วไป แต่ปัจจุบันจีนได้พัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียง บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของจีนได้พยายามเข้ามาทำตลาดในไทย ทั้งในรูปแบบการจำหน่ายสินค้าสำเร็จรูป และนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบในไทย ดังนั้น เมื่อผู้ผลิตรายใหญ่ของจีนเข้ามามีส่วนแบ่งตลาดในไทยมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีต้นทุนการผลิต แต่ไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายตามต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเปลี่ยนมาเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือเป็นผู้นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศแทนการผลิตเอง นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยพบว่า แหล่งนำเข้าสำคัญ คือ จีน โดยในปี ๒๕๕๕ (ม.ค.-ก.ย.) มีส่วนแบ่งการนำเข้าถึงร้อยละ ๕๙ ของการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของไทย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเพราะเป็นสินค้าที่มีความได้เปรียบในด้านราคา ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเพิ่มทางเลือกในการแสวงหาแหล่งวัตถุดิบราคาถูก ปรับโครงสร้างการผลิต ตลอดจนเน้นคุณภาพและสร้างนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆ หรือสร้างความแตกต่างของสินค้าเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ