กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
“เมื่อไหร่ที่เรานำตัวเองเข้าไปในเฟสบุ๊ก ความเป็นส่วนตัวจะไม่เหลืออยู่เลย” ประโยคที่หลายๆ คน คงคุ้นหูเมื่อไรกันในวงการคนชอบเล่น facebook หนึ่งใน Social Media ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในสังคมไทย ใครไม่มีเฟสบุ๊ก ถือว่าเชยไปเลยในยุคนี้ ด้วยความเป็นสาธารณะ ความรวดเร็วในการส่งข่าวสารข้อมูล และประโยชน์ของการเข้าใช้งาน ทุกสิ่งล้วนเป็นความจริง ถ้าสิ่งนั้นมีประโยชน์ รับรองว่าต้องมีโทษตามมา ในทัศนคติของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี พลังเลือดใหม่ไฟแรง พวกเขามีความคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับเฟสบุ๊ก
“อั้น” นายปิยะพันธ์ วงมา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาระบบสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจอุปนายกคนที่ 2 องค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี เล่าว่า “เฟสบุ๊ก” เปรียบเหมือนการจำลองตัวคนนั้นลงไป กลายเป็นบุคคลสาธารณะ นอกจากจะมีเฟสบุ๊กส่วนตัว ยังมีหน้าที่เป็นแอคมินแฟนเพจองค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี จะเล่นเฟสบุ๊กทุกวัน ถ้าได้นั่งเล่นต่อวันจริงๆ ประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง 3 สิ่งหลักที่ใช้เฟสบุ๊ก คือ 1. ทำการประชาสัมพันธ์ข่าวสารขององค์การนักศึกษา 2. ใช้เพื่อความบันเทิง เข้าไปอ่านเพจที่คลายเคลียด 3. คุยกับเพื่อน ซึ่งเมื่อเข้ามาใช้งานทุกวัน เกิดเป็นความเคยชิน กลายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ตอนนี้พยายามที่จะเข้าใช้งานน้อยลง เนื่องจากถ้าใช้เวลามากเกินไป ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยความเป็นสาธารณะ เฟสบุ๊กจึงได้รับความนิยมทุกแวดวงการ เฟสบุ๊กของนักการเมืองหรือแม้กระทั่งดาราบางคนถูกแฮคข้อมูล สร้างความเสียหายให้กับเจ้าตัว
“กิ๊บกิ๊ว” นางสาวนภสกร สัมฤทธิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ คณะบริหารธุรกิจ เหรัญญิก องค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี เล่าว่า จำนวนการกดไลค์เหมือนเป็นการรับรู้การแชร์ประสบการณ์ของเพื่อนหรือบุคคลที่เราติดตาม แสดงถึงว่าสิ่งที่เขาโพสต์เราเห็นด้วย ที่เข้ามาเล่นเฟสบุ๊ก ซึ่งในเฟสบุ๊กยังมีแฟนเพจขององค์การต่างๆ ให้ได้ติดตาม ตอนนี้ติดตามแฟนเพจของ Life 101 Co.,Ltd และ ThaiMarketing.in.th เรียนเกี่ยวกับการบริหาร เพจนี้มีประโยชน์มาก ซึ่งมีการให้ความรู้ทางด้านการตลาดมีการวิเคราะห์ข้อมูล เกี่ยวกับธุรกิจต่างๆ สามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการเรียนได้ อย่างที่บอกว่า บางคนเล่นเพราะว่า ต้องการให้คนเข้ามากดไลค์ ถ้าจำนวนกดไลค์มากที่สุดทำให้รู้สึกดี ยกตัวอย่าง บางคนโพสต์รูปที่ล่อแหลม เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งแชทผ่านเฟสบุ๊ก จนถูกล่อล้วง เกิดเป็นภัยตามมา “เล่นได้แต่ต้องมี สติ”
“โจ้” นายวีรพงศ์ เวชกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย นายกสโมสรนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เล่าว่า ด้วยความสะดวกของเทคโนโลยี โทรศัพท์สามารถเล่นเฟสบุ๊กได้ ตนเองจึงออนไลน์เฟสบุ๊กไว้ในมือถือทั้งวัน โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปแชร์งานการประกวดต่างๆ ให้เพื่อนได้รู้ และจะมีห้องพูดคุยกับเพื่อนในสาขา คุยเรื่องการบ้าน “ข้อมูลบนเฟสบุ๊ก ทำให้รู้ข่าวสาร ไม่ต้องดูทีวีสามารถรู้ข่าวสารได้” แต่ทุกวันนี้ คนบางกลุ่มได้ให้เวลากับเฟสบุ๊กมากเกินไป ติดต่อกันผ่านเฟสบุ๊ก จนลดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลง สังเกตจากการออกไปรายงานหน้าชั้นเรียน นักศึกษาบางคนไม่สามารถสื่อสารหรือพรีเซ็นงานที่ได้รับมอบหมายได้ เนื่องจากการติดต่อสื่อสารส่วนใหญ่จะติดต่อด้วยการพิมพ์ เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมาก
“พงษ์” นายพงษ์พัฒน์ ถาพร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม นายกสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เล่าว่า “จะติดตามเฟสบุ๊กของอาจารย์” สเตตัสที่เป็นแนวคิดหรือคติสอนใจ อ่านแล้วมีกำลังใจในการเรียน เป็นอีกคนหนึ่งที่ออนไลน์เฟสบุ๊กไว้ในโทรศัพท์มือถือทุกเวลา เฟสบุ๊กทำให้ได้เจอเพื่อนเก่าๆ สมัยมัธยม ญาติๆ ถ้าเปรียบเฟสบุ๊กตอนนี้เปรียบเป็นกระจก สิ่งที่สะท้อนให้คนอื่นมองตัวเรา ในขณะที่คุณอัพเดพสเตตัสลงไปในหน้า Wall ของคุณเอง นั่นคือสิ่งที่ตัวคุณเป็น ณ ตอนนั้น สเตตัสดีก็ดีไป สเตตัสติดลบ คุณจะถูกมองติดลบ บางสเตตัสที่โพสต์อาจจะไปกระทบกระเทือนคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น ยกตัวอย่าง ตอนนั้นทางคณะมีกีฬาภายใน แล้วทางสาขาชนะการเชียร์ได้ขึ้นรูปบนเฟสบุ๊ก แต่ด้วยว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา อีกสาขาหนึ่งได้แชมป์มาโดยตลอด ซึ่งเพื่อนทางสาขานั้นได้มาโพสต์ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม เมื่อมีคนเข้ามาอ่าน จึงเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต ความเป็นจริงตนเองไม่ได้มีเจตนาแบบนั้นเลย “ฉะนั้นก่อนที่จะโพสต์หรือแชร์อะไรลงเฟสบุ๊ก ควรคิดให้ดีก่อน”
“กิ๊ฟท์” นางสาวพัชชาภา วิเศษ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 นายกสโมสรนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเล่นเฟสบุ๊กทุกวัน เพราะ สามารถออนไลน์ในมือถือได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดความสะดวก ได้เข้าไปอ่านสเตตัสของเพื่อนๆ ว่าวันนี้ใครเป็นยังไงบ้าง ส่วนใหญ่จะใช้พูดคุยเกี่ยวกับงานโครงการต่างๆ ของสโมสรให้คนในคณะได้รู้ ข้อดีของเฟสมีมากมายหากเราใช้ในทางที่ถูกที่ควร แต่สำหรับบางคนที่โพสต์รูปล่อแหลมหรือตั้งสเตตัสแรงๆ ใช้คำหยาบคายเพียงเพื่อต้องหารให้คนกดไลด์มากๆ คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม อยู่ที่แต่ละคนจะใช้เฟสบุ๊ก เพื่อทำประโยชน์ให้ตนเองหรือประจานตนเอง
ในอนาคตข้างหน้าเฟสบุ๊กจะพัฒนาไปในทางไหนอีก ผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้ แต่ในปัจจุบันนี้สื่อตัวนี้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก อย่างที่บอก จะใช้ให้เกิดประโยชน์ก็มีประโยชน์ จะใช้ให้เกิดโทษก็เกิดโทษ ตัวผู้ใช้เองเท่านั้นที่ต้องมีสติ ไม่เสพติดมากเกินไป