กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--สนพ.
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า เปิดเผยว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2547 จำนวน 7 เดือน มีปริมาณสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2546 โดยอยู่ที่ระดับ 74,089 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8% (68,589 ล้านหน่วย) โดยคณะอนุกรรมการฯ คาดว่าหากถึงสิ้นปี 2547 การใช้ไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 126,811 ล้านหน่วย หรือสูงกว่าการใช้ไฟฟ้าในปี 2546 ประมาณ 7% (118,374 ล้านหน่วย)
นอกจากนี้ในส่วนค่าพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ที่ผ่านมา เมื่อเทียบแล้วเฉลี่ยสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ระดับ 1,029 เมกะวัตต์ โดยมีจำนวน 4 เดือนที่ทำลายสถิติค่าพลัง ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2546 ที่ระดับ 18,121 เมกะวัตต์ ได้แก่ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 19,326 เมกะวัตต์ เดือนเมษายน ที่ระดับ 19,252 เมกะวัตต์ เดือนพฤษภาคม ที่ระดับ 18,374 เมกะวัตต์ และเดือนมิถุนายน ที่ระดับ 18,131 เมกะวัตต์
สำหรับภาพรวมการใช้ไฟที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการส่งออก ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตเหล็ก การผลิตยางสังเคราะห์ เป็นต้น รวมถึงภาคบริการ ได้แก่ การท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มธุรกิจประเภทโรงแรม ที่มีการใช้ไฟเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน และภาวะอากาศร้อนในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในหมวดวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ และหมวดยานยนต์ โดยเฉพาะการผลิตรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเริ่มลดลง รวมไปถึงภาคครัวเรือน ที่เริ่มมีการใช้ไฟฟ้าลดลง ภายหลังจากมาตรการประหยัดพลังงานต่างๆ ที่ภาครัฐได้ประกาศใช้ และโครงการประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ ที่ให้ส่วนลดแก่บ้านเรือนที่ประหยัดไฟได้ 20% จากการประหยัดไฟได้เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมาอย่างน้อย 10% ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2547 สามารถลดการใช้ไฟจากภาคครัวเรือนทั่วประเทศได้เกือบ 500 ล้านหน่วย--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--