กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--กรมศิลปากร
กรมศิลปากร จัดงาน “Creative Fine Arts 2012 : เศรษฐกิจ สร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม” เน้นการขยายผลจากแนวคิดการแสดงผลงานการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากมรดกศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปได้รับความรู้นำมาพัฒนาต่อยอดความคิดในผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ขยายผลสู่การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า งาน Creative Fine Arts : เศรษฐกิจ สร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญของกรมศิลปากรในการส่งเสริมการต่อยอดงานศิลป์ที่เรียกว่า ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่ได้มาจากศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยแต่ละปีจะมีธีมและเนื้อหาสาระแตกต่างกันออกไป มีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่องค์ความรู้แบบองค์รวมจากทุนทางวัฒนธรรม นำมาต่อยอดความคิด พัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์แก่ชุมชน
การจัดงานปีนี้ได้จัดขึ้น ๔ วัน เพื่อเป็นสื่อกลางให้ผู้ประกอบการ และประชาชน เข้าชมงาน สัมผัสกับตัวอย่างของงานศิลปกรรม ที่นำมาสร้างผลิตภัณฑ์แก่ชุมชน การสร้างต้นแบบและต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากทุนทางมรดกศิลปวัฒนธรรม และการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมใหม่ ประกอบด้วย นิทรรศการจะเน้นให้ความรู้หลายเรื่องราว โครงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากงานศิลปในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป , โครงการของที่ระลึกพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร , โครงการจัดทำพระพุทธรูปและพระพิมพ์ซึ่งมีต้นแบบดินเผาจากโบราณวัตถุชิ้นเยี่ยม ในพิพิธภัณสถานแห่งชาติ อู่ทอง เพื่อเป็นมงคลวัตถุและของที่ระลึกสำหรับผู้สนใจ , โครงการศึกษาออกแบบต้นแบบผลิตภัณฑ์จากโบราณวัตถุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ชุดลวดลายมงคลจากศิลปะล้านนา (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่) เป็นต้น
อธิบดีกรมศิลปากร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังเสร็จสิ้นงาน กรมศิลปากรยังมีการต่อยอดความคิดและพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยกรมศิลปากรจะจัดเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญงานในศิลปะแต่ละแขนงให้ความรู้เรื่องทุนทางวัฒนธรรมที่มาจาก โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ภาษาวรรณกรรม เอกสารโบราณ จดหมายเหตุ ศิลปะการแสดง และงานศิลปกรรมต่าง ๆ มาต่อยอดผลิตชิ้นงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสร้างชื่อให้ทั่วโลกได้รู้จัก
กรมศิลปากรยังมุ่งความสำคัญไปยังเยาวชน มีแผนมุ่งส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์แก่ชุมชนไปยังกลุ่มเยาวชนเพื่อสร้างต้นแบบผู้ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์จากทุนทางมรดกศิลปวัฒนธรรมแห่งอนาคต อันเป็นการรักษาศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะสูญหายให้คงอยู่สืบไป โดยมีเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมแต่ละแขนงทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ และฝึกอบรมศิลปกรรมแขนงต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนนำไปต่อยอดทางความคิดเพื่อพัฒนาชิ้นงานให้มีคุณภาพต่อไป และขยายผลไปสู่การนำผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรมไทยไปสร้างชื่อในตลาดต่างประเทศ
ติดต่อ:
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ๐ ๒๒๒๑ ๓๑๗๒ และ ๐ ๒๒๒๒ ๐๙๓๔