กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--กทม.
ผู้ว่าฯ อภิรักษ์เห็นควรจัดซื้อรถดับเพลิงเพิ่ม จัดระบบการทำงาน และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อสร้างความมั่นใจ การทำงานเชิงรุก เน้นความพร้อมทั้งคน อุปกรณ์ และระบบ มุ่งให้ชาวกรุงเทพฯ อุ่นใจ
เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (9 ก.ย.47) เวลา 14.00 น. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวภายหลังร่วมฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการป้องกันภัยและดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ณ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดับเพลิงทุกคนเป็นผู้ที่เสียสละมาก บางท่านทำงานมาถึง 10 ปี โดยเสี่ยงภัยในการที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดเหตุอัคคีภัย ซึ่งในส่วนของสำนักฯมีการเตรียมแผนฝึกอบรมเจ้าหน้าที่บุคลากรตลอดจนอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจในการทำงานในเชิงรุกโดยการเตรียมพร้อมเพื่อสร้างความปลอดภัย ความอุ่นใจให้กับพี่น้องชาวกทม.ได้ ตนจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ ทุกคนมั่นใจว่าถึงตนจะเป็นผู้ว่าฯที่มาจากภาคพลเรือนโดยตรง แต่ก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนและพยายามผลักดันในเรื่องการทำงานและขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ทุกคนอย่างเต็มที่ สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องราคาของการจัดซื้อรถดับเพลิงนั้น ตนได้ปรึกษากับ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้วเพื่อขอดูรายละเอียดในเรื่องของงบประมาณที่มีการจัดซื้อรถดับเพลิง 315 คัน รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท และราคาต่อหน่วยของอุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อเทียบกับราคาที่เคยจัดซื้อไว้ในแต่ละช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร โดยผู้อำนวยการสำนักฯได้ชี้แจงว่าที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการตามขั้นตอนเพื่อตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนของรัฐบาล ทั้งนี้ทางผู้อำนวยการสำนักฯจะมีการเตรียมข้อมูลให้ตนได้เปรียบเทียบราคาต่อหน่วยทั้งหมด อีกครั้งหนึ่ง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเห็นว่าการจัดซื้อรถดับเพลิงเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันสถานีดับเพลิง ทั้งหมดที่กรุงเทพมหานครดูแลอยู่มี 24 แห่ง จะมีการโอนย้ายเพิ่มอีก 11 แห่ง รวมเป็น 35 แห่ง ประกอบกับผู้อำนวยการสำนักฯได้มีการเสนอแผนระยะยาวที่จะเพิ่มสถานีให้ได้ถึง 78 แห่ง และเรื่องของการฝึกอบรมบุคลากรให้เรียบร้อยภายใน ก.ย. 48 ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ตนได้กำชับให้ปลัดกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการสำนักฯดูแลเพื่อสร้างความมั่นใจในการเตรียมความพร้อมเพื่อโอนย้ายทั้งหมด
นอกจากนี้จะมีการสำรวจจุดที่มีประปาหัวแดงโดยปัจจุบันมีประมาณ 7,000 จุด ซึ่งจำเป็นต้องสำรวจเพราะมีหลายแห่งที่ไม่ได้ใช้งานมานาน ทั้งนี้ตนจะประสานโดยตรงกับการประปานครหลวงเพื่อสำรวจร่วมกับทางสำนักฯ และผู้อำนวยการเขตแต่ละพื้นที่เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแต่ละจุดยังใช้งานได้ และจะสำรวจพื้นที่พิเศษในชุมชนด้วยเพื่อติดตั้งเพิ่มในบางพื้นที่ เนื่องจากหลายเดือนที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้ในชุมชนสวนพลูพัฒนา และบริเวณมักกะสัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการสำรวจ นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่ตนอยากจะฝากให้ทางสำนักฯเสนอขึ้นมาเป็นแผนงานผ่านปลัดกรุงเทพมหานครและรองผู้ว่าฯที่ดูแลงานด้านนี้ คือ การทำงานเชิงรุกโดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกล้องหรืออุปกรณ์ที่จะบอกตำแหน่งเวลาที่มีคนโทรเข้ามาแจ้งเหตุ และจะมีศูนย์ควบคุมที่จะบอกได้ว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่ไหนเพื่อจะได้เตรียมการในเรื่องอุปกรณ์ที่จะนำไป โดยจะต้องมีความเชื่อมโยงของระบบ Call Center โดยปรับปรุงประสิทธิภาพ ให้ดีเพื่อเชื่อมโยงกับแต่ละหน่วยงาน ซึ่งปัจจุบันถ้าเกิดเหตุอัคคีภัยจะเห็นว่ามีหน่วยงานที่ไปที่เกิดเหตุหลายหน่วยงานทั้งมูลนิธิต่าง ๆ อปพร. ตำรวจดับเพลิง หรือแพทย์เคลื่อนที่ โดยตนอยากฝากเป็นนโยบายให้ทางสำนักฯเร่งจัดทำถึงแม้ในปัจจุบันจะมีอยู่แล้วแต่อยากให้มีการจัดเป็นระบบมากขึ้นโดยพยายามใช้งบประมาณให้ประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--