ผู้ว่าฯกทม.มอบนโยบายเร่งด่วนสำรวจทุกตรอกซอยแก้ปัญหาขยะตกค้าง

ข่าวทั่วไป Monday September 13, 2004 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--กทม.
ผู้ว่าฯอภิรักษ์ รุกคืบงานจัดการขยะมูลฝอย ให้ทุกเขตเร่งสำรวจทุกตรอกซอยแก้ปัญหาขยะตกค้าง เพิ่มค่าธรรมเนียมใหม่แล้ว ต้องเห็นได้ว่าสะอาดขึ้น เตรียมนำร่องปรับเปลี่ยนวิธีจัดเก็บขยะโดยแบ่งประเภทจัดเก็บประเภทละวัน ส่งเสริมธุรกิจขยะรีไซเคิล รณรงค์การแยกขยะอย่างจริงจัง พร้อมประเมินผลทุก 3 เดือน ต้องลดปริมาณขยะได้จริง
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา(10 ก.ย.47) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ พ.ญ.เพ็ญศรี พิชัยสมิธ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณหญิงณฐนนท ทวีสินปลัดกรุงเทพมหานคร ประชุมด้านการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในกรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะผู้บริหารสำนักรักษาความสะอาด โดยมีนายสมภพ ระวังทุกข์ ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด เป็นผู้บรรยายสรุป
โอกาสนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบนโยบายเร่งด่วนด้านการรักษาความสะอาด ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บขยะมูลฝอย แก้ไขปัญหาขยะตกค้าง โดยให้ทุกเขตสำรวจพื้นที่ทุกตรอกซอยว่า ยังมีปัญหาขยะตกค้างที่ไหนบ้าง พร้อมหาแนวทางแก้ไข ขณะเดียวกันก็ให้บันทึกสถิติปริมาณขยะแต่ละพื้นที่ ตรอกซอย ที่จัดเก็บได้แต่วัน รวมทั้งกวดขันเรื่องความสะอาดและความเรียบร้อย บริเวณตลาดสด และชุมชนต่างๆ ให้มากขึ้น ทั้งนี้ผู้ว่าฯกทม.จะกำหนดออกตรวจพื้นที่ 50 เขต โดยจะสำรวจสภาพปัญหาด้านการรักษาความสะอาด และการจัดเก็บขยะมูลฝอยของแต่ละพื้นที่ด้วย
กิจกรรมที่กรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกัน คือ การส่งเสริมการคัดแยกและลดปริมาณขยะ โดยรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกประเภทขยะอย่างจริงจัง ตามแนวทางที่ว่าผู้มีส่วนสร้างมลภาวะจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการ ทั้งนี้จะต้องมีตัวชี้วัด ด้วยการประเมินทุก 3 เดือน ว่าการรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะทำให้ปริมาณขยะลดลงหรือไม่ อย่างไรจะต้องสร้างระบบรองรับขยะ รีไซเคิลที่ประชาชนคัดแยก เช่น สนับสนุนให้เกิดธุรกิจรับซื้อขยะรีไซเคิล รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บขยะเพื่อรองรับขยะที่ประชาชนจะคัดแยก โดยนัดวันจัดเก็บขยะตามประเภทขยะ เช่น เก็บขยะรีไซเคิลวันหนึ่ง เก็บขยะเปียกหรือขยะเศษอาหารอีกวันหนึ่ง เป็นต้น
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า สำหรับการขึ้นค่าธรรมเนียมการเก็บขยะนั้น เมื่อเพิ่มค่าธรรมเนียมใหม่แล้วต้องดำเนินการให้เห็นผลชัดเจนว่าสะอาดขึ้นอย่างชัดเจน พนักงานเก็บขยะซึ่งทำงานเสี่ยงภัย จะต้องได้รับการดูแลด้านขวัญกำลังใจ สวัสดิการ และสุขภาพ รวมทั้งมีการพิจารณาข้อร้องเรียนของประชาชนถึงความเป็นธรรมในการเก็บค่าธรรมเนียม เช่น ควรคิดค่าธรรมเนียมจากห้องเช่าเล็กๆ ต่างจากบ้านเรือนหลังใหญ่ๆ หรือไม่ นอกจากนี้ศึกษาวิธีการกำจัดและลดปริมาณขยะหลายๆ แนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในระยะยาว นอกเหนือจากวิธีการฝังกลบที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น โรงงานเผาขยะ การรูปขยะ การจัดทำปุ๋ยจากตะกอนสิ่งปฏิกูลและขยะชีวภาพ เป็นต้น
สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลฝอย เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของผู้ว่าฯกทม. โดยมุ่งจัดการกับปริมาณขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันมีวันละกว่า 9,500 ตัน ใช้งบประมาณในการจัดการขยะปีละกว่า 3,800 ล้านบาท ขณะที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตราใหม่ ได้ประมาณ 700 ล้านบาท--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ