ฟรอสต์ฯเผย อีก 10 ปี จำนวนผู้ใช้บริการท่าอากาศยานฯ ในกรุงเทพ เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

ข่าวทั่วไป Thursday October 18, 2012 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน ปัจจุบัน มีคำถามมากมายเกิดขึ้นเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ หนึ่งในนั้นก็คือ เหตุใดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเริ่มเต็มแล้ว ทั้งๆที่เปิดใช้ได้เพียง 6 ปี นายบัณฑร เสาวรรณ นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมการบิน บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลกได้เปิดเผยว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ประเทศได้ใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลักแทนท่าอากาศยานดอนเมือง มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งท่าอากาศยานดอนเมืองมีความจุ 36.5 ล้านคนต่อปี ดังนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว เราก็จะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเพียง 8 ล้านคนต่อปี นั่นคือเหตุผลที่ทำไมสุวรรณภูมิจึงได้ให้บริการเต็มพิกัด โดยปัจจุบัน มีผู้โดยสารมากกว่า 50 ล้านคนต่อปี “การเปิดให้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองคู่ขนานไปกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Dual-Airport) ในขณะนี้นั้นนับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีมาก ซึ่งจริงๆ ควรจะปฏิบัติมาตั้งแต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้เปิดให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการกับสายการบินต้นทุนต่ำ หรือจะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางทางการบินในด้านอื่น ๆ” นอกจากนี้ นายบัณฑร ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า การให้บริการแบบ Dual-Airport นั้นเป็นเรื่องที่เมืองใหญ่ในประเทศอื่น ๆ ปฎิบัติกันมานานแล้ว และกรุงเทพมหานคร ก็นับว่าเป็นเมืองหลวงที่มีขนาดของพื้นที่ และจำนวนประชากรสูงติดอันดับโลก ฉะนั้น เราควรจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของท่ากาศยานเพื่อดึงดูดสายการบินให้เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการคือ หนึ่ง เพื่อรองรับการจราจรที่เพิ่มขึ้นในด้าน Air side ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มรันเวย์ที่สามารถจะรองรับเที่ยวบินได้มากขึ้นต่อชั่วโมง และ สอง เพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มากขึ้นในส่วนของ Landside โดยเน้นเรื่องการบริหารจัดการว่าผู้โดยสารจะมีความพึงพอใจมากน้อยเพียงใด ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าไปในท่าอากาศยาน จนถึงก้าวสุดท้ายที่ออกจากท่ากาศยานไปสู่เครื่องบิน เพราะ ทั้งหมดนี้เป็นการให้บริการของท่ากาศยานและสายการบินตามลำดับ “สำหรับ ปัญหาของเรื่องความแออัดที่จะมีเพิ่มขึ้นนั้น คงจะเกิดขึ้นแน่นอนเพราะในอีกสองปีข้างหน้า จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC และประเทศไทยก็เป็นศูนย์กลางของอาเซียน ประกอบกับการที่อุตสาหกรรมการบินของประเทศสิงคโปร์นั้นมีศักยภาพเต็มที่แล้ว การเจริญเติบโตก็จะเริ่มย้ายฐานมาอยู่ในประเทศมาเลเซียและประเทศไทย แต่เป็นที่รู้กันดีว่า ประเทศไทยนั้นมีส่วนแบ่งตลาดที่เป็นการท่องเที่ยวมากถึงร้อยละ 92 จากผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ 8 เป็นในส่วนของธุรกิจ ฉะนั้น การให้บริการทั้งสองท่าอากาศยานจะส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดย ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน คาดว่าจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้าออกจากกรุงเทพนั้นจะเพิ่มขึ้นสองเท่าภายในอีก 10 ปีข้างหน้า”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ