กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ศนธ.ยธ.
ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯเตือนประชาชนกู้หนี้นอกระบบเสี่ยงสูงถูกหลอก-ทวงหนี้โหด แนะช่องทางป้องกันดีที่สุดไม่ก่อหนี้เกินตัว รู้กฎหมาย ไม่ถูกเอาเปรียบ สำหรับผู้รู้ตัวว่าพลาดไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถติดต่อศูนย์ช่วยเหลือฯ รับคำปรึกษาและความช่วยเหลือทางคดีได้
นางอุมาพร แพรประเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนช่วยอำนวยการและประชาสัมพันธ์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะคณะทำงานของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) เปิดเผยว่า ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2552 สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม โดยใช้บุคลากรจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมบังคับคดี มาช่วยดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ซึ่งมี 3 ภารกิจ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ การให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนด้านปัญหาที่ดิน และสิ่งแวดล้อม และ การให้ความช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านอื่น ๆ เช่น ในคดีจับผิดตัว คดีฉ้อโกงประชาชน
โดยภารกิจหลักที่เป็นจุดเริ่มต้นของศูนย์ช่วยเหลือฯ คือปัญหาหนี้สินภาคประชาชนโดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยและทุกรัฐบาลพยายามหาทางลดทอนความรุนแรงของปัญหา ซึ่งมักเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน ค่าครองชีพที่สูงขึ้น รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และไม่สามารถเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนภาครัฐ เมื่ออยู่ในภาวะคับขันจำเป็นเร่งด่วนจึงจำยอมไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ แม้จะรู้ว่าจะต้องเสียดอกเบี้ยแพงกว่าและเสี่ยงต่อการถูกทวงหนี้ด้วยวิธีการรุนแรง และมักถูกเอารัดเอาเปรียบจากสัญญาเงินกู้ที่ไม่เป็นธรรมและไม่ตรงกับจำนวนเงินที่ได้รับจริง สาเหตุเพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงิน การกู้ยืมเงินนอกระบบส่วนใหญ่มีการทำสัญญาไว้เป็นหลักฐานแต่มักจะระบุจำนวนเงินในสัญญาสูงกว่าเงินที่ลูกหนี้ได้รับมา เมื่อผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้ก็จะนำหลักฐานสัญญาเงินกู้ที่มีมูลหนี้สูงกว่าความเป็นจริงไปฟ้องคดีต่อศาล เพื่อให้ชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบเหล่านี้เวลาฟ้องคดีจะระบุอัตราดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด คือไม่เกินร้อยละ 15 ต่อ ปี หรือ ร้อยละ 1.25 ต่อเดือน
ความรู้ด้านกฎหมายจึงสำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายที่ลูกหนี้ควรรู้ อาทิ การทำสัญญาอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ ข้อควรระมัดระวังในการลงลายมือชื่อ เมื่อถูกฟ้องดำเนินคดีต้องปฏิบัติตนอย่างไร หรือหากถูกเจ้าหนี้นอกระบบตามทวงหนี้โดยไม่รับความเป็นธรรม ด้วยวิธีรุนแรง ข่มขู่ให้เกิดความกลัว อับอาย หรือถึงขั้นประทุษร้ายต่อร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน ลูกหนี้มีสิทธิอย่างไรบ้าง เหล่านี้เป็นหนึ่งภารกิจของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องไปให้ความรู้แก่ภาคประชาชนเพื่อเป็นการติดอาวุธและเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น
ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ ได้ทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง สำนักงานยุติธรรมจังหวัด ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม ซึ่งหลังจากที่ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯได้จัดตั้งและดำเนินการให้ความช่วยเหลือปัญหาหนี้นอกระบบมาตั้งแต่ปี 2552 พบว่าในการต่อสู้คดีของลูกหนี้ที่ผ่านมามีข้อจำกัดเนื่องจากฝ่ายเจ้าหนี้มีการจัดทำเอกสารที่จะใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีลูกหนี้อย่างสมบูรณ์ เมื่อนำเสนอต่อศาลมีน้ำหนักน่าเชื่อถือรับฟังได้ ทำให้ลูกหนี้เสียเปรียบ ลูกหนี้บางคนเมื่อถูกฟ้องคดีไม่ไปศาล บางคนถูกเจ้าหนี้หว่านล้อมให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งที่รู้ว่าตนต้องยอมรับสภาพหนี้ที่สูงกว่าความเป็นจริง ก็เพราะต้องการให้คดีจบไป บางคนอยากสู้คดีเพราะเห็นว่าจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ฟ้องไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงที่ตนรับมา แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หากสู้คดีก็ต้องจ้างทนายความ ซึ่งลูกหนี้ส่วนมากไม่มีเงินที่จะจ้างทนายความมาสู้คดี จึงต้องยอมรับตามคำพิพากษาของศาล ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯจึงได้หามาตรการและแนวทางในการดำเนินคดีกับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เช่น การนำมาตรการทางภาษีมาใช้กับเจ้าหนี้นอกระบบ
คณะทำงานศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ กล่าวว่า วิทยากรของศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ ฯจะพูดทุกครั้งที่ลงพื้นให้ความรู้แก่ภาคประชาชนว่า เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องชำระซึ่งเป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่ต้องบนพื้นฐานของความเป็นจริงของจำนวนหนี้ การเรียกรับผลประโยชน์เกินควรและพฤติกรรมทวงหนี้รุนแรงเกินเหตุของเจ้าหนี้ย่อมไม่เป็นธรรมและไม่ถูกกฎหมาย ลูกหนี้สามารถใช้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินการจบปัญหาหนี้นอกระบบนี้ได้ ซึ่งศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯกระทรวงยุติธรรม เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยเสมอภาคตามครรลองของกระบวนการยุติธรรม โดยจะให้คำแนะนำ อำนวยความยุติธรรมด้วยการสืบหาและสนันสนุนข้อเท็จจริงในการต่อสู้คดี พร้อมจัดหาที่ปรึกษากฎหมายให้แก่ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และการให้ความรู้ทางกฎหมายข้อควรระมัดระวัง เพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อของเจ้าหนี้นอกระบบ และเป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตามเกราะป้องกันที่ดีที่สุดคือการรู้กฎหมายและมีสติ มีวินัยในการใช้จ่าย ไม่ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น สำหรับประชาชนที่เดือดร้อนสามารถติดต่อศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-141-5440 โทรสาร 02- 143- 8285 และนับตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนเป็นต้นไปติดต่อ ศนธ.ยธ.ได้ที่ ชั้น 4 อาคารศูนย์ฝึกอบรม บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทร.02-575-8585 ทั้งทางจดหมายและทางโทรศัพท์.