กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
นักวิจัยระบบสุขภาพชี้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบสุขภาพอันเนื่องจากการเข้ารับบริการของแรงงานข้ามชาติจะหมดไป เมื่อรัฐไทยยอมรับการมีอยู่จริงของแรงงานที่ผิดกฎหมายและวางนโยบายที่รองรับเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปัญหาการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติจะรุนแรงขึ้น และการแพร่กระจายของโรคที่มาจากเพื่อนบ้านจะมากขึ้น
คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ คณะอนุกรรมการสนับสนุนการนำมติสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 63 WHO Global Code of Practice on International Recruitment of Health Personnel ไปสู่การปฏิบัติและภาคีระบบสุขภาพ ได้แก่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และเครือข่ายถมช่องว่างทางสังคม (SIR-Net) จัดการประชุมวิชาการ “สุขภาพแรงงานข้ามชาติ : ทางออกที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ” เพื่อระดมสมองหาทางออกที่เหมาะสมให้กับระบบสุขภาพของไทยในสถานการณ์ที่มีแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นในระบบสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการประชุมวิชาการในวันนี้ว่า “ปัญหาการเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติในระบบบริการสาธารณสุขของไทย เป็นสิ่งที่เราต้องเร่งทำความเข้าใจกับสถานการณ์ รับทราบสภาพปัญหา และความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการภาครัฐ และเอกชนในการให้บริการสุขภาพกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งรวบรวมข้อเสนอในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และการควบคุมป้องกันโรค ทั้งในส่วนการให้บริการแก่คนไทย แรงงานข้ามชาติ และผู้ย้ายถิ่น การประชุมในวันนี้น่าจะได้ข้อเสนอเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของระบบสุขภาพ และทางออกที่เหมาะสมเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของแรงงานและผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติ ทั้งในสภาพปัจจุบันและอนาคตด้วย”
ทั้งนี้ตัวเลขจากการสำมะโนประชากรและการเคหะในปี 2553 ระบุว่าประเทศไทยมีประชากรที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทยประมาณ 2.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 เป็นแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพม่า กัมพูชา และลาว แต่ตัวเลขจากนักวิจัยด้านประชากรศาสตร์คาดการณ์ว่าแรงงานข้ามชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายน่าจะมีอยู่ในประเทศไทยถึงกว่า 4 ล้านคน การคงอยู่ในสังคมไทยของแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ทำให้เกิดความต้องการบริการสุขภาพตามมาด้วย ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงว่าจำเป็นหรือไม่ที่รัฐไทยต้องจัดบริการสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ เพราะสถานพยาบาลหลายแห่งต้องประสบกับภาวะวิกฤติทางการเงินเมื่อต้องจัดบริการให้กับแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จ่ายเงินสมทบเข้าสู่ระบบสุขภาพของไทย
นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายสุขภาพไม่ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการบริการสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคติดต่อ ทำให้ภาระในการดูแลสุขภาพของประชาชนกลุ่มนี้ต้องตกอยู่กับสถานพยาบาล และได้เสนอทางออกเพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพของไทยในยุคที่ประเทศต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติว่า
“กระทรวงสาธารณสุขต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ การวางนโยบาย การวางแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ และการผลิตบุคลากรต้องคำนวณโดยเอาตัวเลขของแรงงานต่างชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการรับบริการสุขภาพด้วย”
นพ. ภูษิต เปิดเผยอีกว่า นโยบายด้านสุขภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งการวางแผนการผลิตบุคลากร การจัดสรรงบประมาณ และการกระจายสถานพยาบาล ล้วนคำนวณจากฐานของประชาชนไทยเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่จำเป็นต้องเข้ามาใช้บริการในระบบสุขภาพของประเทศไทยจริงๆ
“เราต้องยอมรับความจริงว่านโยบายสุขภาพของเราไม่ใช่เพื่อคน 65 ล้านคนเท่านั้น แต่ต้องเพื่อ 65 ล้าน บวก 5 หรือ บวก 7 ในอนาคต ซึ่งคือต้องคำนึงถึงแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย การวางแผนการผลิตบุคลากรต้องคำถึงตัวเลขตรงนี้ด้วย” นพ.ภูษิต กล่าว
แม้กระทรวงสาธารณสุขจะจัดสวัสดิการดูแลสุขภาพให้กับแรงงานข้ามชาติในรูปของกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ ปี 2543 โดยแรงงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย สามารถซื้อประกันสุขภาพได้ในราคาปีละ 1,900 บาท เพื่อรับสิทธิในการเข้ารับบริการตรวจและรักษาสุขภาพแต่พบว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับแรงงานข้ามชาติทั้งหมดที่มีในประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของกองทุนนี้ โดยในปี 2555 นี้พบว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนประมาณ 5.2 แสนคนเท่านั้น ที่เข้าเป็นสมาชิกกองทุน
“ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้สิทธิเฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตทำงานถูกกฎหมายเท่านั้นที่สามารถมีสิทธิในการประกันสุขภาพ ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ทั้งที่เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า การพยายามนำเขาเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพให้ได้ โดยแยกเป็นคนละเรื่องกับปัญหาสัญชาติ” นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยจาก IHPP ผู้ศึกษาเรื่องการให้บริการสุขภาพแรงงานข้ามชาติ กล่าว
นพ.ระพีพงศ์ อ้างถึงการศึกษาขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ในปี 2550 ว่าแรงงานต่างด้าวส่งผลเพิ่มรายได้ของประเทศประมาณปีละ 60,000 ล้านบาท โดยส่งผลต่อมูลค่าในภาคอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 7-10 และในภาคเกษตรกรรมประมาณร้อยละ 4-5 การเข้ารับบริการด้านสุขภาพที่มากขึ้นของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มคนไร้สิทธิและสถานะทางสัญชาติ ในโรงพยาบาลของรัฐ จนเกิดเป็นภาระทางการเงินของโรงพยาบาลหลายแห่ง ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันว่าก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับระบบสุขภาพไทย เพราะคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนในการจ่ายภาษีหรือร่วมจ่ายเงินสมทบเข้าระบบสุขภาพ
“ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้สร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย และทุกคนก็มีส่วนในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มในทุกสินค้าและบริการที่พวกเขาซื้ออยู่แล้ว” นพ.ระพีพงศ์กล่าว
นางณหทัย จุลกะรัตน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวถึง การแบกรับภาระการรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพของแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้จัดสรรงบประมาณให้ จึงก่อให้เกิดปัญหากับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล
“เพื่อแก้ไขปัญหานี้ต้องเร่งรัดให้มีการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพให้ได้มากที่สุด ต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพที่รับผิดชอบแรงงานต่างด้าวอย่างครบวงจรตั้งแต่ระดับประเทศ และระดับจังหวัด กระทรวงสาธารณสุขต้องวางนโยบายที่ชัดเจน และจัดหางบประมาณที่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ ควรมีทีมสุขภาพของประเทศต้นทางร่วมงานด้วยหรือเป็นที่ปรึกษา รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้มาตรการทางภาษีกับผู้ประกอบการที่ดี นอกจากนี้ต้องอนุญาตให้ รพ.สามารถจัดจ้างบุคลากรด้านสุขภาพจากประเทศต้นทาง เช่น ล่าม แพทย์ พยาบาลด้วย” นางณหทัยกล่าว
ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวว่าขณะนี้ รพ.อุ้มผางดูแลประชากรกว่า 84,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ไร้หลักประกันมากถึง 62% คือ ชาวเขาที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร์ ผู้อพยพในศูนย์พักพิง ประชาชนจากประเทศพม่า และประชาชนในหมู่บ้านชายขอบ ส่วนประชาชนที่มีหลักประกันมีเพียง 38% เท่านั้น ซึ่งแพทย์และพยาบาลไม่เพียงพอที่จะให้บริการ นอกจากนี้โรงพยาบาลยังคงประสบภาวะขาดทุนประมาณปีละ 27-28 ล้านบาททุกปีอย่างต่อเนื่อง
“เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนสถานปัญหาการดูแลสุขภาพของคนต่างด้าวจะเพิ่มมากขึ้น เพราะ. ศูนย์พักพิงชั่วคราว 3 ศูนย์ของจังหวัดตากจะถูกยุบ ทำให้ประชากรที่เคยอาศัยในศูนย์ประมาณกว่าแสนคนต้องเข้ามารับบริการในโรงพยาบาลอุ้มผางและโรงพยาบาลอื่นๆ ตามแนวชายแดน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดูแลบริการสุขภาพระดับต้นจะถอนตัวไปทำให้โรงพยาบาลต้องรับผู้ป่วยที่ทะลักเข้ามาอย่างแน่นอน รวมทั้งโรคระบาดจะเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น “ นพ.วรวิทย์กล่าว
ทั้งนี้นพ.วรวิทย์ได้เสนอให้มีการเพิ่มอัตรากำลังคน แต่ต้องสัมพันธ์กับงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ ควรให้ความสำคัญกับการให้บริการสุขภาพระดับต้น โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมโดยเฉพาะในเขตประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งควรผลักดันให้รัฐบาลในประชาคมอาเซียนทุกประเทศ สร้างหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนทุกคน และมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพร่วมกันในประชาคมสุขภาพ จะช่วยบรรเทาปัญหานี้ลงได้