กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--
“คณะพาณิชย์ฯ และ สมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชย์ ส.พ.บ.ธ.” จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง “Paving the Way to AEC 2015: Know it First, Grab it First! : เส้นทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: รู้ก่อน ทำก่อน ได้ก่อน” ในงาน “TU เอื้องฟ้าแฟร์ 2555”
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (ส.พ.บ.ธ.) จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง Paving the Way to AEC 2015: Know it First, Grab it First! : เส้นทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: รู้ก่อน ทำก่อน ได้ก่อน สนับสนุนโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ รองศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์ พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม) กล่าวเปิดงานสัมมนาครั้งนี้ พร้อมด้วย รศ.ดร.กุลภัทรา สิโรดม (คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญร่วมเป็นวิทยากร อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ (กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) , รองศาสตราจารย์วิทวัส รุ่งเรืองผล (หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ (อาจารย์ประจำสาขาวิชาบริหารการปฏิบัติการคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) , คุณธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์ (ผู้จัดการกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชนมุ่งเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการแก่สังคม) ในด้านการให้ข้อมูลแก่วงการศึกษาไทย นักวิชาการ นักธุรกิจ ตลอดจนบุคคลทั่วไป เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สร้างประโยชน์ในแง่ของการเผยแพร่ความรู้อันทันสมัยที่ได้รับจากการวิจัยและสามารถนำไปต่อยอดการวิจัยอื่น ๆ ในอนาคต กอปรใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมสร้างทักษะที่พึงมีสำหรับการแข่งขันในระดับภูมิภาคสืบไป
ประเด็นสำคัญของการสัมมนาวิชาการ
อาเซียนแข่งขัน ร่วมกันสร้างมูลค่าตอนที่ 1 การกำเนิดของมูลค่า โดย ศาสตราจารย์ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ศาสตราจารย์ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่ว่า “ถ้าเราปรองดองกัน มีแต่ชนะ ไม่มีแพ้ ………..” ไปเป็นหลักคิดเกี่ยวกับความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนตาม AEC Blueprint ว่า เมื่อมีความปรองดอง คือมีความร่วมมือกันจริงตามที่ตกลงกันแล้ว ประเทศสมาชิกย่อมได้รับประโยชน์ร่วมกัน คือ มีแต่ชนะทุกคน ไม่มีใครแพ้ จากนั้นจึงมุ่งประเด็นไปที่การสร้างมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ของกิจการในประเทศสมาชิกที่สามารถเพิ่มขึ้นได้จากความร่วมมือ AEC ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนมูลค่าปัจจัยหนึ่งมีแหล่งกำเนิดจากการเปิดเสรีการเงินทำให้อัตราต้นทุนทางการเงินของกิจการลดลง และทำให้มูลค่าของกิจการเพิ่มขึ้นทันที ศาสตราจารย์ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ อ้างอิงผลงานวิจัย ซึ่งท่านได้ออกแบบตัวแบบจำลอง“กระสอบทรายโมเดล”ไว้ และได้ใช้ตัวแบบจำลองนั้นไปวัดอัตราต้นทุนทางการเงินของประเทศสมาชิกที่สามารถลดลงได้
จากความร่วมมือจากนั้นใช้ข้อมูลจริงเกี่ยวกับลักษณะการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนในประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมกับผลการวิจัย เพื่อระบุอย่างเป็นรูปธรรมถึงระดับมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ของกิจการที่สามารถเพิ่มขึ้นได้ ร่วมกันและพร้อมๆ กันในทุกประเทศ หากประเทศสมาชิกร่วมมือกันเปิดเสรีการเงิน AEC เต็มที่ตามที่ได้ตกลงกันไว้ การระบุมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ที่สามารถเพิ่มขึ้นได้จากการเปิดเสรีการเงิน ACE โดยศาสตราจารย์ ดร.อัญญา ขันธวิทย์ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของวงวิชาการไทยที่การระบุมูลค่าเพิ่มสามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม
รองศาสตราจารย์วิทวัส รุ่งเรืองผล
เมื่อวิเคราะห์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยข้อมูลพื้นฐานภาพรวมของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคจะพบว่า ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพในระดับแนวหน้าของภูมิภาคทั้งด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การลงทุน จำนวนประชากร การบริโภคในประเทศ ตลอดจนแผนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่นแผนการพัฒนาระบบขนส่ง (logistics) ในระหว่างภูมิภาคของไทยตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทั้งการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้า ตลอดจนแผนการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์ในด้านนี้อย่างเด่นชัดจะได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ศูนย์การค้าและการท่องเที่ยว ธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเมนท์และธุรกิจประเภทที่พักอาศัยต่าง ๆ นอกจากนี้ การลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะมีการขยับขยายตัวอย่างมากสู่ต่างจังหวัดอันเนื่องจากการขนส่งตลอดจนการเปิดโอกาสบริเวณพรมแดนที่จะมีมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อมีการไหลเวียนของแรงงานที่มีทักษะและที่ไม่มีทักษะย่อมจะทำให้เกิดความต้องการทีอยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สำหรับลูกค้าระดับกลางถึงล่างซึ่งยังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่อีกมาก สำหรับปัจจัยที่น่าเป็นห่วงที่ต้องการส่งเสริมเพื่อป้องกันการรุกตลาดจากต่างประเทศจะมีที่สำคัญได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน และการพัฒนาคุณภาพของบุคลากรในประเทศในด้านภาษาอังกฤษซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างมากเมื่อเปิด AEC นอกจากนี้ประเด็นแนะนำที่สำคัญคือการร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐเอกชนและองค์กรอิสระในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคืบหน้าของแต่ละภาคส่วนเนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องในแต่ละธุรกิจเป็นอย่างมากซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรม โดยสรุปแล้วนั้น มีความเห็นว่าพื้นฐานของประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง และเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจอย่างมากในภูมิภาคอาเซียนนี้ มีแผนการณ์พัฒนาที่น่าสนใจอีกเป็นจำนวนมากในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโลจิสติกส์ ทั้งด้วยราคาที่ยังไม่แพงเลยหากเทียบกับมาเลเซีย เวียดนามหรือสิงค์โปร์ ดังนั้น การที่จะบุกตลาดต่างประเทศอาจไม่ได้เป็นภาคบังคับเมื่อเปิด AEC เนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยในต่างจังหวัดยังมีโอกาสอีกมากในการพัฒนา อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญที่ไม่อาจละเลยได้คือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่จะเข้ามามีผลต่อการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างเช่น การเมือง เศรษฐกิจโลก เป็นต้น
ผศ.ดร.การดี เลียวไพโรจน์
ติดปีกธุรกิจบริการสู่ตลาดแห่งความต่างของอาเซียน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือการรวมตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง 10 มีประชาคมที่มีพื้นที่กว่า 4.4 ล้านตารางกิโลเมตร ประชากรกว่า 680 ล้านคน การคิดว่าอาเซียนเราเหมือนกัน เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ผิดพลาดที่สุด เราอาจจะเหมือนกันในภาพรวมและแนวการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ แต่ในรายละเอียดเราแตกต่างกันมาก จนมักต้องย้ำเสมอว่า ASEAN is not ASEAN การทำความเข้าใจรสนิยมการบริโภคที่แตกต่าง สร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มอาเซียน เริ่มจากแนวคิด Customer Centric Service Design คือ การทำความเข้าใจ Customer Value ซึ่งคุณค่านี้ก็สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลักตามการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจและระดับรายได้ของกลุ่มลูกค้า ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้กว้างๆของคุณค่าบริการที่กลุ่มลูกค้าเหล่านั้นต้องการ นั่นคือ (1) Function (2) Quality (3) Feature และ (4) Experience จากนั้น เจาะลึกแนวการตั้งรับ และกลยุทธ์เชิงรุกกลุ่มธุรกิจบริการที่มีศักยภาพของไทยในตลาดอาเซียนที่มีพลวัตรสูง เช่น กลุ่มบริการการท่องเที่ยว กลุ่มการศึกษา กลุ่มบริการความงาม
ธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์
ผู้จัดการกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
สภาวะการแข่งขันของธุรกิจจะเป็นอย่างไรหลังจากการเปิดเสรีอาเซียน
สหภาพยุโรปเป็นกรณีศึกษาที่ดีของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพราะตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน คนทั่วโลกได้เห็นถึงตั้งแต่ความสำเร็จทั้งในเชิงความแข็งแกร่งในภูมิภาค และบทบาทที่เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก จนถึงปัญหาวิกฤติหนี้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีบางสำนักเชื่อว่าระบบเงินสกุลเดียวกันเป็นหนึ่งในสาเหตุ ซึ่งภูมิภาคอาเซียนเองก็ได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นดังกล่าวและพร้อมปรับใช้กับการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือ AEC ดังจะเห็นถึงแนวทางที่ชัดเจนแล้วว่า เราคงจะไม่ใช้เงินสกุลเดียวร่วมกันแบบเงินยูโรในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน แม้จะเป็นแม่แบบที่ดี แต่ AEC ก็ต่างจากสหภาพยุโรปตั้งแต่รูปแบบการรวมตัว จนถึงความลึกและลักษณะแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลต่อความสำเร็จในการรวมกลุ่ม ที่จะทำให้อาเซียนคงไม่เหมือนยุโรปทีเดียว ในส่วนของแนวทางการรวมตัวนั้น สภาพยุโรปมีลักษณะค่อนข้างบังคับ ในขณะที่อาเซียนอาศัยความร่วมมือเป็นหลัก ในขณะที่ขอบเขตและลักษณะต่างๆ ที่เป็นปัจจัยเชิงตลาดหรือธรรมชาติของธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการรวมกลุ่มประเทศมากกว่า เช่นการค้าระหว่างประเทศในยุโรปที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ 55% ตั้งแต่ก่อนรวมกลุ่มในขณะที่ของอาเซียนอยู่ที่ 25% ผลที่ตามมาก็คือความรวดเร็วในการดำเนินการที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความลึกของการรวมตัวจะอยู่ที่ระดับไหน สิ่งหนึ่งที่ธุรกิจต้องเผชิญเหมือนกันจากการเปิดเสรีก็คือการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทชั้นนำในยุโรปอาจจะสะท้อนให้เห็นสิ่งที่อาจจจะเกิดขึ้นในทำนองเดียวกันในอาเซียน โดยบริษัทชั้นนำในยุโรปหันมาเน้นธุรกิจหลักที่ถนัดมากขึ้นจากเดิมที่ทำธุรกิจหลายๆ สาขา และขยายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเพิ่มขึ้น นอกจากยังเกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry cluster) ซึ่งส่งผลให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้านในแต่ละภูมิภาคของยุโรป การรวมกลุ่มของภูมิภาคอาเซียนก็ได้เริ่มมีการพัฒนาไปในแนวทางที่เกิดขึ้นกับยุโรปแล้ว ประเทศมาเลเซียได้เริ่มต้นการขยายการลงทุนไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนไปตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ที่เห็นได้ชัดคือด้านการเงินและการธนาคาร สำหรับในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทยก็เริ่มมีความคึกคักในการขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศมากขึ้นในปีนี้ ในขณะเดียวกันสภาอุตสาหกรรม
ก็ได้เริ่มวางโครงสร้างเพื่อขับเคลื่อนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสำหรับประเทศไทยแล้วเช่นกัน ธุรกิจในประเทศไทยควรเร่งปรับตัวในช่วงเวลาที่เหลือในการเสาะหา core competency ของตนเอง ทำความเข้าใจกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งขั้นตอนการใช้ประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึง ศึกษาความหลากหลายของตลาดอาเซียน เพื่อสามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการในแต่ละกลุ่มได้ เพราะโลกธุรกิจปัจจุบัน อำนาจต่อรองนั้นอยู่กับผู้บริโภค และความแตกต่างของผู้บริโภคส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการจัดเซกเมนต์ตลาดที่ชัดเจนมากขึ้น การมีสินค้าและบริการที่ไม่หลากหลายอาจจะกลายเป็นความเสียเปรียบในเวที AEC