กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กรมสรรพสามิต
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังได้มอบนโยบายให้กรมสรรพสามิตดูแลสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี รวมถึงการดำเนินงานตามมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามสุราเถื่อน บุหรี่เถื่อน และน้ำมันเถื่อน และจูงใจผู้ที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาสู่ระบบภาษี กรมสรรพสามิตจึงได้จัดทำแผนเฉพาะกิจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิต โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจสำนักตรวจสอบ ป้องกันและปราบปราม และเจ้าหน้าที่สรรพสามิตพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันตรวจสอบและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตตามแหล่งสถานบริการ แหล่งชุมชน และพื้นที่เป้าหมายอื่นๆ ซึ่งคาดว่าอาจมีการกระทำผิด เพื่อเป็นมาตรการเสริมทางอ้อมในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคให้บริโภคสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากการบริโภคบุหรี่และสุราที่หลีกเลี่ยงภาษีจะเป็นอันตรายและส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าบุหรี่และสุราโดยทั่วไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่ๆ ที่มีรูปลักษณ์แปลกใหม่ ง่ายต่อการเชิญชวนให้เยาวชนทดลองใช้ อีกทั้งมีรูปลักษณ์ กลิ่น สี ที่ดึงดูดใจ อาทิ SHISHA หรือ ฮุคก้า ซึ่งจะทำให้ผู้เสพโดยเฉพาะเยาวชนสามารถติดได้โดยง่าย อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะมีการระบาดอย่างแพร่หลาย ซึ่งจะยังความสูญเสียเงินตราอย่างมาก นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ยาสูบเหล่านี้ล้วนแต่มีสารพิษเช่นเดียวกับที่มีในบุหรี่ คือ สารทาร์ นิโคติน การสูดควันจากยาสูบประเภท SHISHA หรือ ฮุคก้า จะได้รับพิษภัยมากกว่าบุหรี่ ทั้งสารคาร์บอนมอนนอกไซด์ แคดเมียม สารพิษในใบยาสูบอื่นๆ ตลอดจนขั้นตอนและกระบวนการสูดดมจากอุปกรณ์ ที่เรียกว่า บาลากู่ เป็นวิธีการเสพที่สามารถปลอมปนสารเสพติดอื่นๆ ลงไปด้วยได้โดยง่าย ซึ่งอาจส่งผลให้มีการใช้ยาเสพติดในรูปแบบใหม่ได้ กรมสรรพสามิตจึงได้ดำเนินการปราบปรามผู้นำเข้า ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภท SHISHA หรือ ฮุคก้า เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเยาวชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2555 ได้รับแจ้งจากสายสืบว่ามีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 จึงได้มอบหมายให้ นายธรรมศักดิ์ ลออเอี่ยม รองอธิบดีกรมสรรพสามิต และชุดเฉพาะกิจสำนักตรวจสอบป้องกันและปราบปรามกรมสรรพสามิตได้ร่วมกันวางแผนเพื่อทำการจับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 ณ บ้านเลขที่ 60 หรือ 314/585 แขวงแสนแสบ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 ราย
สำหรับของกลาง คือ น้ำสุราทั้งสิ้น 5,265 ลิตร คิดเป็นมูลค่าของกลาง เป็นเงินประมาณ 526,500 บาท คิดเป็นมูลค่าภาษี เป็นเงินประมาณ 315,900 บาท และคิดค่าปรับเป็นเงินประมาณ 1,895,400 บาทต่อคน รวมผู้ต้องหาทั้งหมด 3 คน คิดเป็นเงินประมาณการค่าปรับ 5,686,200 บาท โดยผลการดำเนินคดีได้ส่งให้พนักงานสอบสวน สน.มีนบุรี ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 คือ
1) ร่วมกันมีไว้เพื่อขายซึ่งสุราที่รู้ว่าต้องปิดแสตมป์สุราแต่มิได้ปิดแสตมป์สุรา
2) ร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสุราที่ต้องปิดแสตมป์สุราแต่มิได้ปิดแสตมป์สุรา
นอกจากนี้ เมื่อวานเย็น (วันที่ 10 ตุลาคม 2555) สามารถจับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 โดยเหตุเกิดบ้านไม่มีเลขที่ ซอยศรีนครินทร์ 36 แขวง/เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 10 ราย พร้อมของกลาง คือ ยาเส้นปรุง (บารากู่) จำนวน 1,300,000 กรัม (หนึ่งล้านสามแสนกรัม) คิดเป็นมูลค่าของกลางประมาณ 1,300,000 บาท (หนึ่งล้านสามแสนบาทถ้วน) และประมาณการค่าปรับคนละ 19,500,000 บาท (สิบเก้าล้านห้าแสนบาทถ้วน) รวมเป็นประมาณการค่าปรับทั้งสิ้น 195,000,000 บาท (หนึ่งร้อยเก้าสิบห้าล้านบาทถ้วน) โดยผลการดำเนินคดีได้ส่งให้พนักงานสอบสวน สน.พระโขนง ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 คือ
1) ร่วมกันมีไว้เพื่อขายยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ
2) ร่วมกันมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองเกินกว่าห้าร้อยกรัม
อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมสรรพสามิตยังได้ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ในเขตพื้นที่บริเวณแนวตะเข็บชายแดน โดยผลการปราบปรามของสำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 8 และ 9 ในปีงบประมาณ 2554 —2555 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้รวม 5,761 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวมจำนวนทั้งสิ้น 218.52 ล้านบาท ซึ่งของกลางเป็นน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดต่างๆ ปริมาณรวม 5,997,710 ลิตร
สำหรับผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายสรรพสามิตของปีงบประมาณ 2554-2555 กรมสรรพสามิตสามารถจับกุมผู้กระทำผิดทั่วประเทศได้รวม 88,907 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินรวมจำนวนทั้งสิ้น 960.40 ล้านบาท แบ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 จำนวน 55,023 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 168.30 ล้านบาท
พะราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2509 จำนวน 22,933 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 356.28 ล้านบาท
พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 จำนวน 10,898 คดี เปรียบเทียบปรับเป็นเงินจำนวน 435.82 ล้านบาท และพระราชบัญญัติไพ่ พุทธศักราช 2486 จำนวน 53 คดี ศาลปรับเป็นเงินจำนวน 476.92 ล้านบาท
“หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ Call center 1713 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.excise.go.th หรือแจ้งที่ตู้ ป.ณ. 10 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ซึ่งกรมสรรพสามิตจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ และจะมอบสินบนนำจับให้ภายหลังจากคดีเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว”