กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (national rating) ระยะยาว ที่ระดับ ‘AA(tha)’แนวโน้มมีเสถียรภาพ แก่ตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับดัชนี Deutsche Bank Dynamic Carry ชุดที่ 0007/2004 ครบกำหนดอายุในเดือนกรกฎาคม 2551 มูลค่า 215 ล้านบาท ซึ่งออกโดย ธนาคารกสิกรไทย (“KBANK”) ตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเปลี่ยนมือไม่ได้ โครงสร้างของตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ประกอบด้วยส่วนของเงินต้นซึ่งจะได้รับการคุ้มครองเต็มจำนวน และส่วนของผลตอบแทนที่อ้างอิงกับดัชนี Deutsche Bank Dynamic Carry ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนที่สูงในส่วนของผลตอบแทน โดยผลตอบแทนขั้นต่ำได้ถูกกำหนดไว้ที่ศูนย์ นอกจากนี้ หากเกิดการปรับเปลี่ยนในตัวดัชนี Deutsche Bank Dynamic Carry จนส่งผลให้มีการหยุดคำนวณตัวผลตอบแทนอ้างอิง หรืออีกนัยหนึ่งเกิด Index Adjustment Suspension Event ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินก็จะยังได้รับเงินต้นเต็มจำนวนพร้อมด้วยผลตอบแทนจำนวนหนึ่งเมื่อครบกำหนดอายุของตั๋วสัญญาใช้เงิน อันดับเครดิตของตั๋วสัญญาใช้เงินนี้สะท้อนถึงอันดับเครดิตของ KBANK เนื่องจากธนาคารมีภาระผูกพันในการจ่ายเงินต้นเต็มจำนวน ส่วนความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนที่สูงในส่วนของผลตอบแทน ถือเป็นส่วนที่ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินยินยอมที่จะรับเพื่อแลกเปลี่ยนกับโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูง
ผู้ลงทุนควรทราบว่าอันดับเครดิตของตั๋วสัญญาใช้เงินนี้ เป็นการวิเคราะห์ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเท่านั้น และไม่ได้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะตลาดหรือความเสี่ยงของผลตอบแทน
อันดับเครดิตของ KBANK สะท้อนถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของคุณภาพสินทรัพย์ ระดับเงินทุนและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณที่แสดงถึงการฟื้นตัวของผลกำไรที่ชัดเจนขึ้น โดยผลกระทบทางลบที่เกิดจากการด้อยคุณภาพของสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นในปี 2540 ได้ลดลง ธนาคารได้ทำการปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องนับจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยมุ่งเน้นเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการทำกำไร KBANK ได้ทำการลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงสาขา เสริมสร้างความแข็งแกร่งในการบริหารความเสี่ยงและการบริหารทั้งระดับกลางและระดับสูง รวมถึงการกระจายความเสี่ยงโดยการเพิ่มธุรกรรมธนาคารพาณิชย์สำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าภาคธุรกิจขนาดเล็ก จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ KBANK สามารถกลับมามีผลกำไรได้อีกครั้งหนึ่ง
KBANK มีผลกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นในปี 2546 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ค่าเผื่อหนี้สูญและต้นทุนการให้สินเชื่อลดลง นอกจากนี้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการที่ปรับตัวดีขึ้น กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและเงินลงทุนในหุ้นกู้ที่สูงขึ้น รวมทั้งการบันทึกผลกำไรจากการปรับมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์ ยังมีส่วนสนับสนุนผลประกอบการของธนาคาร ถึงแม้ว่าผลกำไรสุทธิของ KBANK ในรอบระยะ 6 เดือนแรกของปี 2547 จะลดลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการที่ไม่มีการบันทึกผลกำไรจากการปรับมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทจัดการสินทรัพย์ แต่ในส่วนของผลการดำเนินงานหลักของธนาคาร ก็ยังมีการปรับตัวดีขึ้นโดยมีอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ที่ 3% และอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 50 % ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 KBANK มีสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ระดับ 14.1% ของสินเชื่อทั้งหมด และมีระดับการกันสำรองหนี้สูญอยู่ที่ 77.8% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ โดยระดับการกันสำรองหนี้สูญของ KBANK จัดอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับธนาคารไทยอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การที่ KBANK มีระดับหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ที่ค่อนข้างสูง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการกันสำรองได้ในอนาคต อัตราหนี้ด้อยคุณภาพหลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของธนาคารได้ลดลงมาอย่างมีสาระสำคัญมาอยู่ที่ระดับ 32.5% การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการในใช้เกณฑ์การจัดชั้นหนี้และการกันสำรองที่เข้มงวดมากขึ้น อาจส่งผลให้ระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพของ KBANK เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้บางรายอาจถูกจัดชั้นให้เป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่เกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นไม่มีผลกระทบอย่างเป็นนัยสำคัญต่อระดับการกันสำรองหนี้และระดับเงินทุนของ KBANK
หลังจากที่มีการไถ่ถอนหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิในเดือนมกราคม 2547 ระดับเงินกองทุนของ KBANK ได้ลดลงมาที่ระดับ 12.7% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยระดับเงินทุนขั้นที่ 1 ลดลงมาที่ 7.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการที่ดีขึ้นคาดว่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้ระดับเงินกองทุนของธนาคาร โดย ณ สิ้นปี 2547 ระดับเงินทุนขั้นที่ 1 และระดับเงินกองทุนของ KBANK คาดว่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 9% และ 14% ตามลำดับ
รายงานฉบับเต็มของ KBANK อยู่ที่ www.fitchresearch.com
ติดต่อ
อรวรรณ การุณกรสกุล/เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล/ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์/ Vincent Milton +662 655 4755
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--