กรุงเทพฯ--19 ต.ค.--OutDoor PR Plus
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT) จุดพลุ“โครงการประกวดหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์” หรือ Innovative Craft Award เปิดเวทีคัดสรร ช่างฝีมืองานศิลปหัตถกรรมและนักสร้างสรรค์ของไทย “กลุ่มจักสาน และเครื่องปั้นดินเผา” ร่วมส่งผลงาน หวังพัฒนาทักษะเชิงพาณิชย์ขยายโอกาสสู่ตลาดโลก ล่าสุดประกาศสุดยอดงานเชิงสร้างสรรค์ภายในงาน BIG & BIH วันนี้ (16 ต.ค.)
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ ศ.ศ.ป. (SACICT) กล่าวว่า เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมให้มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการขยายช่องทางการตลาดหัตถกรรมในเชิงสร้างสรรค์ของไทย ให้เกิดการตอบสนองจากลูกค้าในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ศ.ศ.ป. ได้ตระหนักถึงความสำคัญเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย จึงได้ริเริ่มจัด โครงการประกวดหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือ Innovative Craft Award ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมบุคลากร (ครูช่าง หรือช่างฝีมือ) ในท้องถิ่นที่มีทักษะฝีมือในงานหัตถกรรม ด้านเครื่องจักสาน และเครื่องปั้นดินเผา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงงานทั้งในเชิงอนุรักษ์และงานสมัยใหม่ให้สามารถออกสู่ตลาดสากลได้
“หลังจากการจัดกิจกรรมเพื่อรับสมัครผู้ส่งผลงานเข้าประกวด จากทั่วทั้ง 4 ภูมิภาค จนได้ผลงานจากทั่วประเทศจำนวน 200 กว่าชิ้น จนที่สุดได้ผลงานที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 30 ชิ้นงาน โดยแบ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผา 15 ชิ้น และเครื่องจักสาน 15 ชิ้น ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีและยังแสดงให้เห็นว่ามีคนที่เห็นคุณค่าความสำคัญของงานหัตถกรรมไทยอยู่อีกมากมาย โดยใช้ประโยชน์จากวัสดุธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนมาผสมผสานกับเทคโนโลยีการผลิตและการออกแบบสมัยใหม่ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายรูปแบบ มีประโยชน์ใช้สอยได้จริงและสามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดได้จนเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในตลาดได้ในอนาคต”
ทั้งนี้ผลงานได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เช่น นางสุพัตรา ศรีสุข ที่ปรึกษาศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) นายสักกฉัฐ ศิวะบวร กรรมการผู้จัดการ บริษัทไอดีไซน์พับลิชชิ่ง จำกัด นางเยาวดี สินธุประมา ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรม นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ นักออกแบบและผู้บริหารโรงงานเซรามิคเถ้าฮงไถ่ ราชบุรี นายเจรมัย พิทักษ์วงศ์ บรรณาธิการอำนวยการนิตยสารบ้านและสวน ฯลฯ ทั้งนี้ หลังจากการประชาสัมพันธ์รับสมัครกลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรม กลุ่มนักออกแบบและผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษา ทั่วทั้ง 4 ภูมิภาค ปรากฏ
ว่ามีผู้ส่งผลงานทั้งสิ้น 214 ชิ้นงาน แบ่งออกเป็น เครื่องปั้นดินเผาจำนวน 127 ชิ้นงาน และเครื่องจักสานจำนวน 87 ชิ้นงาน และได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบตัดสินประเภทละ 15 ชิ้นงาน รวมเป็น 30 ชิ้นงาน
โดยผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทเครื่องปั้นดินเผา ได้แก่ นางสาวกนกกัญญา รวมไมตรี กับผลงานชื่อ “Butterfly Vase” มีแนวคิดและที่มาจากการเรียงตัวของเกล็ดสีเล็กๆ นับล้าน นำมาจุดตกแต่งด้วยการจุดน้ำดินสีให้เกิดเป็นลวดลายของผีเสื้อ เป็นผู้คว้ารางวัล พร้อมด้วยเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท และเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นผลงานของ นายเอ็มโซเฟียน เบญจเมธา “อัญมณีสีดำ”แนวคิดจากการผสมผสานก่อเกิดศิลปะร่วมสมัย ไทยมลายูผ่านรูปทรง ลายอักษร ภาษาท้องถิ่น สีดำเงาของน้ำเคลือบสัมผัสถึงกลิ่นไอศิลปะสีสันของปลายด้ามกริชและสีสันของกรงนกศิลปะเชิงอนุรักษ์จากไม้ดำประจำถิ่น พร้อมด้ามจับโถสื่อเส้นสายศิลปะมลายูสร้างหัตถกรรมสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ผลงานของ นายประกรณ์ วิไล ผลงานชื่อ “ ก้อนดิน” จากแนวคิดการนำก้อนดินมารังสรรค์ปั้นแต่ง ขึ้นรูปด้วยมือทีละเม็ดพร้อมการนำศาสตร์แห่งธาตุทั้ง 4 มาประยุกต์ใช้ แปรเปลี่ยนก้อนดินให้เป็นเครื่องประดับ เงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
สำหรับประเภทเครื่องจักสาน รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางวาสนา สายมา ผลงานชื่อ “โคมไฟรังนก” แนวคิดมาจากลักษณะกล้วยไม้ไอยเรศ ด้วยการนำไม่ไผ่ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ ขัดสานขึ้นลวดลายเป็นรูปดอกกล้วยไม้ชื่อไอยเรศ จากรูปลักษณ์ของความกลมเกลียวในตัวชิ้นงานได้นำมาเกาะเกี่ยวให้เกิดรูป ได้รับรางวัลเป็นเงินสดมูลค่า 50,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ผลงานของนายคมกฤช บริบูรณ์ ผลงานชื่อ “กล่อง 6”x 8”ลายน้ำไหล” เกิดจากแนวคิดที่อิงธรรมชาติและการนำ “สมุ” (ไม้ไผ่สาน) ซึ่งเป็นงานจักสานไม้ไผ่ทั่วไปผสานสีสันการไล่เรียงให้เหมือนสายน้ำไหลรองรับการใช้งานด้วยรูปแบบเรขาคณิต สามารถพัฒนารูปแบบการใช้งานให้เข้ากับยุคสมัยแต่ยังคงวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ ได้รับเงินสดมูลค่า 30,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 นางสาวลัดดาวัลย์ มงคลวรรณ ผลงานชื่อ “ปากกาจักสานลายไทยสลักชื่อ” จากปากกาธรรมดา เพิ่มเติมความวิจิตรบรรจงด้วยจักสาน หุ้มปากกาด้วยลายไทยสลักชื่อ แสดงถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ด้วยการนำไม้ไผ่ชิ้นเล็กๆ มาสานด้วยมือนั่นเอง ได้รับเงินสดมูลค่า 20,000 บาทพร้อมเกียรติบัตร โดยผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลจะถูกนำไปแสดงภายในงาน BIG&BIH ระหว่างวันที่ 16-21 ตุลาคมนี้ด้วย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :
แสงระวี สิงหวิบูลย์
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)
โทร 035 367 054-9 ต่อ 1354