กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
เมื่อพูดถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หลายคนมักนึกถึงแต่ตัวผู้ป่วย วิธีการปฏิบัติตนของผู้ป่วย รวมทั้งวิธีการรักษา ว่าวิธีใดจะเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด โดยอาจลืมไปว่าจริง ๆ แล้ว ผู้ที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนนั้นก็เป็นบุคคลสำคัญเช่นกัน โดยสำหรับทีมอายุรแพทย์หัวใจที่ทำการรักษาแล้ว ผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยถือเป็นหนึ่งในทีมรักษาที่มีบทบาทสำคัญมากที่จะช่วยส่งเสริมให้การรักษาโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันนั้น “ข้อมูล” เกี่ยวกับโรค และการดูแลรักษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าผู้ดูแลทราบรายละเอียดมากเท่าใด นอกจากความมั่นใจในการรักษาจะมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นใจ และกำลังใจให้กับผู้ป่วยได้อีกด้วย เนื่องจากในช่วงเวลานั้น บุคคลที่ควรมีสติ และควบคุมสถานการณ์ได้ดีที่สุดก็คือผู้ดูแลผู้ป่วยนั่นเอง
การที่จะได้ข้อมูลมาประกอบการดูแลผู้ป่วยนั้นการปรึกษาอายุรแพทย์หัวใจ ถือเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด การเตรียมคำถามที่จะถามแพทย์จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะบางครั้งผู้ดูแลอาจจะมีคำถามที่อยากถามมากมาย แต่ไม่ทราบว่าจะต้องถามอะไรบ้าง และถามเมื่อไหร่ โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับการยืนยันจากแพทย์อย่างแน่นอนแล้วว่า เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน สิ่งที่ควรทราบคือ มีวิธีการรักษาวิธีไหน และอย่างไรบ้าง โดยแพทย์จะให้คำแนะนำในเรื่องของการรักษาซึ้งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด บางรายอาจจะเป็นการให้รับประทานยา บางรายอาจแนะนำให้ทำการผ่าตัดหรือบายพาส และบางรายอาจได้รับคำแนะนำให้ทำบอลลูนเพื่อขยายหลอดเลือด และใส่ขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจ เพื่อป้องกันการกลับมาตีบอีกของหลอดเลือดหัวใจ
ขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจโดยเฉพาะขดลวดที่มียาเคลือบนั้น ถือเป็นนวัตกรรมใหม่เพราะเป็นขดลวดชนิดแรกที่สามารถป้องกันการเกิดการกลับมาตีบใหม่ในหลอดเลือดตรงส่วนที่ขดลวดฝังอยู่ได้ ขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจชนิดนี้มีความพิเศษอยู่ที่การเคลือบตัวยาที่เรียกว่า”ซิโรลิมุส” ซึ่งเมื่อขดลวดนี้เข้าไปฝังอยู่ในหลอดเลือดหัวใจแล้ว ก็จะสามารถปล่อยยาออกมาได้ถึงประมาณ 45 วัน ยาชนิดนี้จะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นมาจากการที่ร่างผลิตออกมาเพื่อต่อต้านสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย จึงช่วยชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์ที่จะเข้ามาอุดตันในหลอดเลือดบริเวณที่ขดลวดฝังอยู่ ช่วยให้หลอดเลือดที่อาจเกิดแผลจากการใส่ขดลวดกลับอยู่ในสภาพปกติ ในขณะเดียวกันร่างกายก็จะมีการสร้างเนื้อเยื่อคลุมรอบนอกขดลวดตามธรรมชาติ จึงทำให้ลดความเสี่ยงที่จะหลอดเลือดจะกลับมาอุดตันอีกลงเหลือน้อยมาก ลดการสิ้นเปลืองทั้งในเรื่องของค่าใช้จ่าย และเวลาที่ต้องเสียไปในการเข้ารับการขยายหลอดเลือดอีก
หากผู้ป่วยได้รับคำแนะนำให้รักษาด้วยวิธีใส่ขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ดูแลผู้ป่วยควรเตรียมข้อมูลที่สำคัญให้แพทย์ เช่น ผู้ป่วยแพ้ยาประเภทแอสไพรินหรือไม่, มียาประจำตัวที่รับประทานอยู่อย่างต่อเนื่องหรือไม่, แพ้ยาชนิดใดบ้าง, เคยมีประวัติที่เลือดไหลไม่หยุดหรือไม่ และผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้วัสดุ ประเภทโลหะหรือไม่ เป็นต้น
จากนั้นสิ่งที่ผู้ดูแลผู้ป่วยควรสอบถามแพทย์ คือรายละเอียดของขดลวดถ่างหลอดเลือดหัวใจ และขั้นตอนการรักษาโดยละเอียด เช่น ขดลวดมีกี่ชนิด และชนิดไหนที่เหมาะกับผู้ป่วย, ผู้ป่วยต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานเท่าไร, ต้องรักษาด้วยยาชนิดใด และต้องปฏิบัติตนอย่างไร เพื่อให้การรักษาได้ผลสูงสุด
หลังจากการรักษา และกลับมาพักฟื้นที่บ้าน บทบาทของผู้ดูแลจะยิ่งเด่นชัดขึ้นในฐานะตัวแทนของแพทย์ที่ต้องเฝ้าคอยดูแลอาการผู้ป่วย รวมทั้งเป็นกำลังใจ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต เอาชนะพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อการเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน และช่วยกระตุ้นการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสม ควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การเลิกสูบบุหรี่ การรู้จักผ่อนคลาย การพักผ่อนที่เพียงพอ การรับประทานยาที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ รวมทั้งการหมั่นพบแพทย์ตามนัดหมาย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ดูแลใกล้ชิดผู้ป่วยไม่ควรมองข้ามคือ การดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจของตนเองให้ดีที่สุด พึงระลึกว่าตนเองเป็นหลักที่สำคัญที่สุดในช่วงนี้ เพราะหากผู้ดูแลเป็นบุคคลที่แข็งแรง สุขภาพดี ก็จะสามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน
ด้วยความปรารถนาดีจาก........... "กลุ่มมัณฑนากรหลอดเลือดหัวใจกรุงเทพ"--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--