กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--กรมควบคุมโรค
กรมควบคุมโรคลุยพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนนำทีมเยี่ยมจังหวัดราชบุรี-กาญจนบุรีดูงานเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคติดต่อสำคัญในพื้นที่
ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมด่านป้องกันควบคุมโรคระหว่างประเทศ บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ ชายแดนไทย-พม่า ในเขตอำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรีว่า การดำเนินงานด้านสุขภาพตามแนวชายแดนมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่าพื้นที่อื่น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ในทิศทางที่สอดคล้องกัน โดยรัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาสุขภาพและต้องการเห็นประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายแดนใน 31 จังหวัด มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ปราศจากโรค และหากเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาที่ดี มีคุณภาพ ด้วยมาตรฐานที่เท่าเทียมกันทุกคน และเพื่อเป็นการสร้างความพร้อมของไทยในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนแม่บทการแก้ปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุขชายแดนฉบับที่ 2 พ.ศ. 2555-2559 เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้เป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการบริหารจัดการ
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาสาธารณสุขตามแนวชายแดน ขณะนี้มี โรคติดต่อสำคัญ 7 โรค ที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนได้แก่ วัณโรค มาลาเรีย โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคอุจจาระร่วง โรคที่ป้องกันด้วยวัคซีน และโรคที่เกิดขึ้นในอดีตแต่หวนกลับมาเป็นปัญหาใหม่ และปัญหาเชื้อดื้อยาเพราะกินยาไม่ต่อเนื่อง เช่น วัณโรค มาลาเรีย ทำให้ต้นทุนการรักษาสูงขึ้น เพราะต้องใช้ยาแพงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่การดูแลของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 ราชบุรีและเป็น 1ใน 31 จังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน และเป็นด่านหน้าของการเคลื่อนย้ายมากมาย ของประชากรในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ที่อาจทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยจากโรคติดต่อต่างๆได้ง่ายโดยเฉพาะ วัณโรค โรคมาลาเรีย และเอดส์ ฯลฯซึ่งพบว่าเป็นปัญหาของพื้นที่อยู่ขณะนี้
ประเทศไทยจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในงานด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว โดยนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคจัดระบบการป้องกัน เฝ้าระวังโรคพื้นที่ชายแดนและข้ามเขตแดน ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศพม่า ให้มีการจัดประชุมร่วมระหว่างจังหวัดชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกัน หรือจังหวัดคู่แฝด ปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อร่วมมือกันกวาดล้างโรค พัฒนาระบบริการ รวมทั้งการพัฒนาห้องตรวจปฏิบัติการหรือห้องแลปของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 ราชบุรี ที่เป็นห้องปฏิบัติการมีทั้งศักยภาพและความพร้อมในการตรวจวินิจฉัยโรค ช่วยสนับสนุนการทำงานของทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)ให้สามารถควบคุมโรคและตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วโดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อวัณโรคและทดสอบการดื้อยา ที่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่เกิน 1 วัน ช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าของการวินิจฉัยโรคเพราะปัจจุบันพบเชื้อวัณโรคดื้อยาเป็นจำนวนมาก ต้องใช้การทดสอบทางห้องปฏิบัติการในการเพาะเลี้ยงเชื้อและทดสอบความไวต่อยา ซึ่งการวินิจฉัยด้วยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์เลือกยารักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว และช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังชุมชนได้
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์โรคมาลาเรียซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่มักพบตามพื้นที่ป่าเขา แนวชายแดนแต่จากการติดตามเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคมาลาเรียของสคร.4 ราชบุรีโดยศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 4.1 กาญจนบุรี ตั้งแต่ตุลาคม 54 ถึงกันยายน 55 พบว่ารายงานผู้ป่วยโรคมาลาเรียว่ามีอัตราการลดลงถึง 15 % เนื่องจากพื้นที่จะมีการค้นหาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางตรงคือจะมี จนท.มาลาเรียลงไปตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อจากประชาชนในหมู่บ้านและทางอ้อมทางศตม.4.1กาญจนบุรี จะมี จนท.อาสาอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ เช่น มาลาเรียคลินิกตามหมู่บ้าน เป็นต้น หากพบผู้ป่วยที่น่าสงสัยจะรีบตรวจอย่างละเอียดและทำการรักษาโดยเร็วเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งมีการติดตามผลของผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ และทำการควบคุมยุงก้นปล่องตัวเมียพาหะของโรคด้วยวิธีการพ่นสารเคมี ก่อนและหลังฤดูกาลระบาดของไข้มาลาเรีย ปีละ 2 และทาง ศตม.4.1 กาญจนบุรี จะมีการออกไปพบกับประชาชนในหมู่บ้านอย่างน้อยเดือนละ 2ครั้งเพื่อให้ความรู้และให้คำแนะนำ ในการป้องกันโรคและการดูแลตนเองไม่ให้ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย มีการแจกยาทากันยุง มุ้งชุบสารเคมี โดยมี สคร.4 ราชบุรี ให้การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการตรวจคัดกรองโรคมาลาเรีย เพื่อให้หมดไปจากพื้นที่ โดยเร็ว
“อย่างไรก็ตามประชาชนหรือผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ตามแนวชายแดน โดยเฉพาะตามพื้นที่ชายแดน บริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง อาจเสี่ยงเป็นโรคมาลาเรียได้ ขอให้ระมัดระวังป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด ควรเตรียมมุ้งหรือเต้นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุง นอนในมุ้งชุบสารเคมี และสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แนะนำให้ใช้สีอ่อนๆ เพราะการใส่เสื้อผ้าสีดำ มักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก รวมทั้งควรสุมไฟเพื่อไล่ยุง หรือจุดยากันยุง หรือทายากันยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ และหลังการกลับจากป่า หากมีอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดศีรษะ ผิวหนังซีด อาเจียน เบื่ออาหาร บางรายปวดศีรษะมากอาจปวดลึกเข้าไปในกระบอกตา กระสับกระส่าย เพ้อ กระหายน้ำ ชีพจรเต้นเร็ว คลื่นไส้อาเจียน มีเหงื่อออกชุ่มตัว ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้านหรือที่ หน่วยมาลาเรีย เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และต้องแจ้งประวัติการเข้าป่าหรือไปบริเวณพื้นที่เสี่ยงให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาที่รวดเร็ว โรคนี้มียารักษาหาย หากรักษาเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้”
“นอกจากนี้การมีสุขนิสัยที่ดีก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการป้องกันโรค คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ป้องกันอย่าให้ยุงกัด ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นผู้สูงอายุและเด็ก ควรไปรับการฉีดวัคซีนที่จำเป็น ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัดควรสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงรู้จักสังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง เจ็บในหลอดคอ ปวดศีรษะ นํ้ามูกไหล อ่อนเพลีย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และควรติดตามข่าวสารสถานการณ์โรคในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้ปลอดภัยจากโรคต่างๆได้”อธิบดีคร.กล่าวแนะนำ
นพ.อภิชาติ รอดสม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีกล่าวว่า ทางสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่4 จังหวัดราชบุรี ในการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่สำคัญที่อาจจะเป็นปัญหาตามแนวชายแดน โดยเฉพาะเรื่องวัณโรค ที่บางท่านอาจจะมองข้าม แต่บางครอบครัวก็ได้รับผลกระทบมากมาย วัณโรคเป็นโรคที่รักษาได้แต่กว่าจะหายก็ใช้เวลา ถึง 6-8 เดือน ถ้ากินยาไม่ต่อเนื่องเชื้อจะกลายเป็นเชื้อดื้อยา ต้องรักษาไม่น้อยกว่า 18 เดือน และจะไม่ค่อยหาย ประเทศไทยพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ปีละประมาณ 8 หมื่นคน เป็นเชื้อดื้อยาประมาณร้อยละ 8 สำหรับกาญจนบุรีพบผู้ป่วยปีละ 1,000 — 1,200 คน แต่ถ้ามีการค้นหาและได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง 100% คาดว่าจะพบผู้ป่วยมากกว่านี้ ประมาณ2 เท่า และพบผู้ป่วยเชื้อดื้อยาทุกอำเภอ แต่พบมากที่ อำเภอท่ามะกา เมือง และท่าม่วง ปีนี้พบทั้งสิ้น 30 รายแล้ว วัณโรครักษาเร็วหรือรักษาตั้งแต่เป็นใหม่ ๆ จะเสียค่ารักษาไม่เกิน 5 พันบาท แต่ถ้าเป็นเชื้อดื้อยาต้องใช้เงินถึง 2 แสนบาทต่อคนและไม่รับประกันว่าจะหายขาดทุกราย การที่ สคร.4 ราชบุรีมีห้องปฏิบัติในการตรวจหาเชื้อวัณโรคและทดสอบความไวต่อยาที่มีประสิทธิภาพ จึงช่วยให้มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์วัณโรคให้เป็นไปตามหลักที่ว่า “วัณโรครู้เร็ว ไม่ขาดยา รักษาหาย” ได้ และเชื่อว่าห้องปฏิบัติดังกล่าว จะสามารถสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยโรคอื่นๆอย่างเช่นมาลาเรีย เอดส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน
ด้าน ดร.นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 ราชบุรีกล่าวว่า สคร.4 ราชบุรีมีพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดรวม 8 จังหวัดได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม และสุพรรณบุรี ภารกิจของสคร.4 ราชบุรี นอกจากการพัฒนาห้องตรวจปฏิบัติการหรือห้องแลปให้สามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมีระบบรายงานการเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด หากพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากวัณโรคหรือโรคติดต่ออื่นๆจะดำเนินการสอบสวนโรค รวมถึงการตัดวงจรการแพร่เชื้อโรคทันที แม้จะเป็นโรคที่ไม่พบบ่อยในประเทศไทย ก็จะต้องมีการติดตามข่าวสารและประสานข้อมูลร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีมาตรการเฝ้าระวังที่ด่านควบคุมโรคชายแดนที่เข้มข้นทันต่อสถานการณ์ เพราะจะทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของวัณโรคและโรคต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
ทั้งนี้ประชาชนทั่วไป สามารถลดความเสี่ยงจากวัณโรคหรือโรคระบาดต่างๆได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงเดินทางไปยังพื้นที่ ที่กำลังมีโรคระบาด หากจำเป็นต้องเข้าไปควรรับวัคซีนป้องกันโรคก่อน หรือหากรู้สึกว่า ตนเองติดโรคที่กำลังระบาดเข้าแล้ว ควรพบแพทย์โดยด่วน อย่าปล่อยไว้ เพราะไม่เพียงแค่จะรู้สึกกังวล หรืออาการยิ่งทรุด คุณอาจแพร่เชื้อโรคระบาดไปยังคนอื่นๆ ด้วย.
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จ.ราชบุรี ( สคร.4 ราชบุรี)