กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ 15-19 ต.ค. น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า (W-O-W) อยู่ที่ระดับ 110.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 91.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม น้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 113.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันน้ำมันเบนซินออคเทน 95 ลดลง 3.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซลลดลง 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 129.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- อุปทานน้ำมันดิบของยุโรปตึงตัว โดยปริมาณการขนส่งน้ำมันดิบทั้ง 12 ชนิด จากแหล่งทะเลเหนือในเดือน พ.ย. 55 ลดลง 20,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 1.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- สถาบันจัดระดับความน่าเชื่อถือ Moody's ยืนยันสถานะของพันธบัตรรัฐบาลสเปน ยังอยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุน ที่ระดับ Baa3
- 19 ต.ค. 55 สมาชิกสหภาพยุโรป (European Union: EU) 27 ประเทศ ตกลงเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยงดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และการขนส่ง รวมถึงธุรกรรมการเงินกับกลุ่มธนาคาร
- ท่อ Keystone ซึ่งขนส่งน้ำมันดิบมาจากแคนาดามายังสหรัฐฯ วันละ 590,000 แสนบาร์เรล หยุดดำเนินการ เพื่อซ่อมแซมท่อส่วนที่อยู่ในรัฐ Missouri ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. 55
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวในช่วงปลายสัปดาห์ หลังกระทรวงแรงงานรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ต.ค. 55 เพิ่มขึ้น 4.6 หมื่นราย อยู่ที่ 388,000 ราย และ National Association of Realtor (NAR) รายงานยอดขายบ้านมือสองในเดือน ก.ย. 55 ลดลง 1.7% จากเดือนก่อนอยู่ที่ 4.75 ล้านหน่วย
- สำนักสารสนเทศพลังงาน (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ต.ค. 55 เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 369.2 ล้านบาร์เรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 11%
- อิรักส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 2 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อน (M-O-M) อยู่ที่ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่งออกทางตอนใต้จากท่า Basrah เพิ่มขึ้น 1.2 แสนบาร์เรลต่อวัน อยู่ที 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 3/55 ลดลงจาก 0.2% (Q-O-Q) อยู่ที่ 7.4 % (Y-O-Y) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.6% และเป็นการชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์รายงานยอดการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เดือน ม.ค.- ก.ย. 55 ลดลง 3.8% (Y-O-Y) อยู่ที่ 8.34 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบผันผวน จากแรงกดดันที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ความไม่แน่นอนในการแก้ไขปัญหาหนี้ของยุโรป และรายได้ของบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น GE และ Mcdonalds ลดลง ประกอบกับคาดว่าอุปทานน้ำมันในทะเลเหนือจะเพิ่มสูงขึ้น หลังจากแหล่ง Buzzard ที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ กำลังการผลิต 2 แสนบาร์เรลต่อวัน และท่อขนส่ง Keystone จะเริ่มกลับมาดำเนินการ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4/55 มีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ +7.7% เนื่องจากรัฐบาลใช้จ่ายสร้างสาธารณูปโภค และปรับลดสำรองธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะลดลง 0.5% มาอยู่ที่ 19.5% ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent และ WTI จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ 107.64-111.94 USD/BBL และ 87.70 - 91.25 USD/BBL ตามลำดับ ให้จับตาผลของมาตรการ QE3 ของสหรัฐฯ ที่ใช้เงินกว่า 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือนซื้อ Mortgage back security ที่น่าจะทยอยส่งผลบวกต่อภาคที่อยู่อาศัยซึ่ง Golman Sach ระบุว่าจะช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ 0.25% ปีนี้ และ 0.5% ปีหน้า