กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--สมาคมไทยรับสร้างบ้าน
ภาวการณ์ทั่วไป
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Constructions Association: THCA) สำรวจความเห็นสมาชิกสมาคมฯทั่วประเทศ พบว่า ไตรมาสสามปีนี้ (เดือนก.ค.-ก.ย. 2555) ปริมาณและมูลค่ายอดจองสร้างบ้านในกลุ่มสมาชิกสมาคมไทยรับสร้างบ้านอยู่ในภาวะทรงตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (เดือนก.ค.-ก.ย. 2554) แต่หากเปรียบเทียบกับในช่วงไตรสองที่ผ่านมา (เดือนเม.ย.-มิ.ย. 2555) พบว่าปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้คาดว่ามาจากสาเหตุสำคัญๆ คือ ประการแรก ความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาน้ำจะท่วมซ้ำอีกในปีนี้ และประการที่สอง ผลกระทบจากเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ทั้งสองปัจจัยมีผลทำให้กำลังซื้อหรือความต้องการสร้างบ้านหลังใหม่ชะลอตัวลง
อย่างไรก็ดี เมื่อสมาคมฯ ทำการสำรวจข้อมูลแยกตามรายภูมิภาคพบว่า ยอดจองสร้างบ้านในพื้นที่ภาคกลางมีสัดส่วนสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ หรือประมาณร้อยละ 25 ขณะที่ยอดจองสร้างบ้านพื้นที่ภาคอีสานและในเขตกทม.และปริมณฑล และภาคเหนือมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน หรือคิดเป็นร้อยละ 22 และ 21 ตามลำดับ โดยยอดจองสร้างบ้านพื้นที่ภาคใต้ มีสัดส่วนยอดจองสร้างบ้านน้อยที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณและมูลค่ารวมทั้งหมดในกลุ่มสมาชิก สำหรับยอดจองสร้างบ้านในพื้นที่ภาคกลางซึ่งมีสัดส่วนเป็นอันดับ 1 นับเป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ โดยพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกสร้างบ้านในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และหัวหิน
ภาพการแข่งขัน
ช่วงไตรมาสสามปีนี้ พบว่าการแข่งขันของผู้ประกอบการไม่รุนแรงเหมือนทุกปีที่ผ่านมาทั้งๆ ที่เป็นช่วงที่มีการจัดกิจกรรมทางการตลาดของกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นประจำทุกปี โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้การแข่งขันลดโทนรุนแรงลงเป็นเพราะ ประการแรก ปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญ ประการที่สอง ต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากจะมีการปรับราคาค่าแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศต้นปี 2556 และประการถัดมา พบว่าบรรยากาศการจะซื้อหรือสร้างบ้านหลังใหม่ของผู้บริโภคในช่วงไตรมาสสามนี้ค่อนข้างเงียบเหงา อันเนื่องมาจากความกังวลเรื่องน้ำจะท่วมซ้ำอีกปีนี้
สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ภาพการแข่งขันในช่วงไตรมาสสามลดความเข้มข้นลง โดยผู้ประกอบการบางรายไม่พร้อมจะขายหรือรับงานสร้างบ้านหลังใหม่อีก เนื่องเพราะยังมีบ้านที่ขายไว้ก่อนหน้านี้ในราคาต้นทุนเดิม ซึ่งยังไม่ได้ทำการก่อสร้างหรืออยู่ระหว่างก่อสร้าง แต่ปัจจุบันราคาต้นทุนค่าก่อสร้างใหม่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บริหารจัดการยากขึ้น และอาจประสบปัญหาขาดทุนหรืออย่างเก่งก็ไม่มีกำไร บรรดาผู้ประกอบการจึงมีความระมัดระวังในการแข่งขันราคา นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหลายๆ รายยังมีงานก่อสร้างคั่งค้างและส่งมอบงานล่าช้าอยู่จำนวนมาก เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานทั้งระบบ โดยเฉพาะแรงงานในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยผู้ประกอบการต้องยอมจ้างแพงกว่าค่าแรงปกติเกือบเท่าตัว เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดังนั้นหากมองภาพรวมของการแข่งขันในปัจจุบัน หาใช่แข่งขันกันเพื่อมียอดขายบ้านมากๆ แต่เป็นการแข่งขันกันแย่งชิงแรงงานแทน
สำหรับการแข่งขันของตลาดรับสร้างบ้านในภูมิภาคหรือต่างจังหวัดโดยทั่วไป พบว่าการแข่งขันไม่รุนแรงแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นเพราะมีผู้ประกอบการแข่งขันอยู่น้อยราย จะมีการแข่งขันราคาบ้างก็เป็นหัวเมืองใหญ่ๆ ที่มีผู้ประกอบการอยู่มากราย เช่น เชียงใหม่ อุดรธานี เป็นต้น โดยทั้ง 2 จังหวัดมีผู้ประกอบการท้องถิ่นและจากส่วนกลางที่ขยายสาขาออกไปแข่งขันกันอยู่มากกว่า 8-10 ราย ทำให้ตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่จังหวัดดังกล่าวมีความคึกคัก อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในแง่ของมาตรฐานและความเป็นมืออาชีพ ของผู้ประกอบการรับสร้างบ้านในท้องถิ่น ถือว่ายังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ผู้บริโภคคาดหวังไว้ ทั้งนี้หากดูจากตารางสถิติตลาดบ้านสร้างเองปี 2553-2555 (ดูตารางประกอบ) จะพบว่าในต่างจังหวัดผู้บริโภคใช้บริการสร้างบ้านกับผู้รับเหมารายย่อยเกือบทั้งหมด นั่นเป็นเพราะบริษัทรับสร้างบ้านที่แข่งขันกันอยู่ในธุรกิจนี้เกือบทั้งระบบ ไม่สามารถให้บริการได้ในพื้นที่ต่างจังหวัด
สรุปภาพรวม
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านหรือยอดจองสร้างบ้านในช่วงไตรมาสสามที่ผ่านมา อาจมองได้ว่าความต้องการสร้างบ้านไม่เติบโต ผลมาจากความกังวลของผู้บริโภคว่าน้ำจะท่วมซ้ำอีก สมาคมฯ ประเมินว่าหากมีความชัดเจนว่าปัญหาน้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก โดยรัฐบาลหรือฝ่ายที่ดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำ มีแผนป้องกันที่เชื่อได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมแน่นอน เชื่อว่าการตัดสินใจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว จะกลับคืนมาในช่วงไตรมาสสี่นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านปีนี้เติบโตได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม เช่น ปทุมธานี นนทบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้บริโภคมีความกังวลและไม่กล้าตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่
ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะไม่เติบโต แต่โดยภาพรวมของธุรกิจรับสร้างบ้านทั่วประเทศแล้วมิได้ชะลอตัวตามกัน ทั้งนี้เป็นเพราะมีผู้ประกอบการรายเดิมบางรายและรายใหม่ๆ ที่เข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้ สามารถขยายการให้บริการแบะเพิ่มปริมาณและมูลค่ารับสร้างบ้านในตลาดต่างจังหวัดได้มากขึ้น ภาพดังกล่าวสมาคมฯ เชื่อว่าทิศทางตลาดรับสร้างบ้านในปี 2556 และปีต่อๆ ไปมีแนวโน้มจะเติบโตและขยายตัว ออกไปยังตลาดในภูมิภาคมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่ปรับตัวก่อนหรือปรับตัวได้ทัน ย่อมมีโอกาสทางการตลาดและได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
สำหรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและวิกฤติยูโรโซนในปัจจุบัน ยังเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องเฝ้าระวัง ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณว่ากำลังซื้อในประเทศในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัว ฉะนั้นผู้ประกอบการควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเผชิญกับการแข่งขัน ท่ามกลางปัจจัยที่ไม่อาจควบคุมได้ ทั้งภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับต้นทุนในปีหน้า สำหรับมูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านปี 255 นี้มีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าเป้าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงไตรมาสสี่จะมีกำลังซื้อกลับคืนมามากน้อยเพียงใด ทั้งนี้เบื้องต้นประเมินว่ามูลค่าตลาดรวมน่าจะต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทเล็กน้อย