กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ตรวจพบว่า ลูกค้าโบรกเกอร์ที่หาดใหญ่ ใช้เงินกู้นอกระบบในการชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ จึงขอให้ โบรกเกอร์ติดตามธุรกรรมที่ผิดปกติ และกำชับบุคลากรมิให้ข้องเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบ รวมทั้ง จะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องการให้วงเงินลูกค้า เพื่อป้องกันผลกระทบแก่ระบบเคลียริ่งหุ้นต่อไป
จากการที่มีข่าวกรณีการกู้ยืมเงินนอกระบบที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นั้น ก.ล.ต. ได้ดำเนินการตรวจสอบและพบว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 โบรกเกอร์ในอำเภอหาดใหญ่ 12 แห่ง ได้มีการรับชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ของลูกค้าจากบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกค้า อีกทั้งมีหลายกรณีที่เงินจากบัญชีธนาคารของบุคคลหนึ่งได้นำไปใช้ชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้า ซึ่งมีลักษณะเป็นการกู้เงินนอกระบบจากบุคคลนั้นเพื่อมาชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ รวมจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 6,800 ล้านบาท ก.ล.ต. จึงสั่งให้โบรกเกอร์ดังกล่าวสอบสวนและพิจารณาลงโทษพนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และแจ้งผลให้ ก.ล.ต. ทราบ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ ปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบมาชำระค่าซื้อหลักทรัพย์จะส่งผลให้ลูกค้าซื้อขายหุ้นจนเกินฐานะของตนเอง เมื่อลูกค้าซื้อหุ้นและติดค้าง หากลูกค้าไม่มีความสามารถในการชำระเงินด้วยตนเอง ไปใช้เงินกู้นอกระบบโดยจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่สูง ก็ยิ่งทำให้ฐานะลูกค้าอ่อนลง ๆ จนอาจกระทบฐานะของโบรกเกอร์ นอกจากนี้ เงินกู้นอกระบบอาจเป็นช่องทางในการฟอกเงินและนำไปสู่พฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสมได้ ”
“ ปัญหาดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากการที่โบรกเกอร์ให้วงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ที่เกินฐานะของลูกค้า ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหานี้ ก.ล.ต. จึงได้ออกหนังสือเวียนถึงโบรกเกอร์ทุกแห่ง กำชับเรื่องการพิจารณาวงเงินให้เหมาะสมกับฐานะของลูกค้า ให้โบรกเกอร์หาทางป้องกันการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ จัดให้มีระบบตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหานี้ สื่อสารให้บุคลากรของโบรกเกอร์สอดส่องเรื่องนี้ รวมทั้ง หากพบว่าบุคลากรของโบรกเกอร์มีส่วน เกี่ยวข้องในการหาแหล่งเงินดังกล่าว ก็ให้มีการลงโทษทางวินัยและรายงานให้ ก.ล.ต. ทราบ ”
“ นอกจากนี้ เพื่อให้การพิจารณาให้วงเงินเป็นไปในมาตรฐานที่รัดกุม ก.ล.ต. ได้จัดทำแนวปฏิบัติในเรื่องวงเงิน และจะได้ปรึกษาหารือกับคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. เพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติในการพิจารณาให้วงเงินลูกค้าให้มีความรัดกุมมากขึ้น"--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--